การศึกษาของเรานั้นลอกเรียนแบบจากประเทศทางตะวันตก
เยาวชนไทย 'รู้ทุกเรื่อง เก่งทุกวิชา แต่ไม่รู้จักตัวเอง'
ประชากรในโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เรามีเพื่อนร่วมโลกใบนี้ ครบ 7,000 ล้านคนเมื่อไม่นาน
เมื่อเช้านี้ เพื่อนโทร. มาปรึกษา บอกว่าลูกสาวเรียนแผนกศิลป์อยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมเป็นเด็กที่เก่งมากเกรดเฉลี่ย 3.8 แต่ไม่รู้จะไปเรียนต่อคณะอะไรดี
เพื่อนลูกส่วนมากก็มุ่งหวังไปแย่งที่นั่งในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แต่ตัวลูกก็ไม่รู้ว่าจะดีไหม ส่วนแม่แนะนำให้สอบเข้านิติศาสตร์สำหรับเพื่อนผมก็ยังไม่หายขัดใจที่พยายามให้ลูกเรียนสายวิทย์ แต่ลูกไม่สนใจ
นี่แหละครับปัญหาใหญ่ของการศึกษาในบ้านเมืองเรารู้ทุกเรื่อง เก่งทุกวิชา แต่ไม่รู้จักตัวเอง สมัยก่อนมันไม่มีปัญหาอะไรมากหรอกครับ เรียนๆ ท่องๆ ติวหนักๆ เกรดดีๆ
สอบเข้าจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ได้ จบมาก็มีงานทำ มีทุนให้เรียนต่อ
แต่ในวันนี้วันที่ประชากรโลกมี 7,000 ล้านคน เรื่องราวมันเปลี่ยนไปมากครับ
ทุกวันนี้คนไทยเราเรียนจบปริญญาตรีกันปีละประมาณ 5 แสนคน
เรื่องที่จะหวังไปทำงานราชการนั้น มันยากจริงๆเพราะ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เขารับบรรจุข้าราชการปีละประมาณ 5,000 คน
บัณฑิตเราจำนวนมากต้องไปหางานเอกชนทำ บัณฑิตส่วนหนึ่งจบมาแล้วไม่รู้จะทำอะไร ก็เรียนต่อปริญญาโทเพื่อชะลอการตกงาน คนได้ทำงานจำนวนมากอาจจะไปทำงานที่ไม่ตรงกับที่เรียนมาเลย
และอีกมากที่ทำงานอะไรก็ได้ขอให้มีเงินเดือนแต่ก็ยังไม่น่าห่วงเพราะยังดีที่มีงานทำ เพราะมีอีกหลายแสนคนที่ตกงาน
ทุกวันนี้ลูกพี่ใหญ่ของเรา คืออเมริกา มีปัญหามากมายจากการว่างงานครับ
ในสหรัฐอเมริกา มีบัณฑิตตกงานมากมายเพราะค่าจ้างเงินเดือนสูงมาก เมื่อโลกของการเชื่อมโยงข้อมูลเติบโต เทคโนโลยีสื่อสารอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน ทำให้บริษัทต่างๆ ในอเมริกาที่ต้องการจะอยู่รอดและทำกำไร จึงหันไปใช้บริการของบัณฑิตในอินเดียซึ่งค่าจ้าง เงินเดือนถูกมาก
วิศวกรอินเดีย จบปริญญาเอก โท ตรี มีมากมาย คุณภาพใช้ได้ ภาษาอังกฤษดีค่าตัวถูกกว่าจ้างคนอเมริกันอย่างน้อยก็ 4 เท่าครับงานต่างๆที่สามารถจะส่งต่อไปทำที่อินเดียได้ จึงถูกส่งไปยัง บังกาลอร์ แหล่งบัณฑิตค่าจ้างถูกที่ประเทศอินเดีย
ทุกวันนี้ งานออกแบบวิศวกรรม งานวิจัยทางเคมี ชีววิทยา งานทำบัญชี งานวิเคราะห์ระบบต่างๆของบริษัทอเมริกัน ต่างถูกส่งออกไปยังอินเดียแมักระทั่งพนักงานรับโทรศัพท์ในโรงแรมที่อเมริกา
ยังรับโทรศัพท์ พูดคุยและให้บริการลูกค้าอยู่ที่บังกาลอร์ คนอเมริกันที่เคยทำงานง่ายๆ เงินเดือนสูงๆ ต่างต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดส่วนผู้ที่จบมาใหม่ โอกาสหางานก็ยากขึ้นทุกวันครับ
แม้กระทั่งประเทศอังกฤษ สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษก็ยังออกมารายงานว่าตอนนี้ คนอังกฤษตกงานจำนวนมากมีจำนวนผู้ไม่มีงานทำมากถึง 2.62 ล้านคนซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี
บัณฑิตตกงานมากมายในบ้านเราก็มีมากอยู่แล้วดังนั้นเมื่อมีการกระตุ้นสังคมให้ตื่นตัวเรื่องประชาคมอาเซียนก็ยิ่งสร้างความกังวลให้นิสิตนักศึกษาจำนวนกว่า 2 ล้านคนในบ้านเรา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในอีก 3-4 ปีข้างหน้านี้
ได้รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีในกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ
ซึ่งตอนนี้ตกลงไปแล้ว 7 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี
ส่วนสาขาอื่นๆ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและแน่นอนว่าจะต้องเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ
วิศวกรไทยเงินเดือน 20,000 บาท แต่ถ้าคุณภาพสู้วิศวกรจากเวียดนามเงินเดือน 15,000 บาทไม่ได้
อีกหน่อยวิศวกรเวียดนามก็อาจเข้ามาทำงานแทนการกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำของประเทศก็ไม่ได้เป็นความมั่นคงอีกต่อไปเพราะไม่มีเจ้าของกิจการที่ไหนยอมขาดทุน หรือเสียเปรียบเขาก็ต้องจ้างแรงงานที่ราคาถูกกว่าถ้าคุณภาพไม่ต่างกัน
ปัญหาที่น่าสนใจก็คือ ถ้าวันนี้เป็นนักเรียนอยู่มัธยม หรือเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย
แล้วจะทำอย่างไร จะเตรียมตัวอย่างไร จึงจะไม่ต้องตกอยู่ในสภาพวิ่งหางาน
คำตอบก็คือ ถ้าเราไม่ได้เรียนจบในสาขาต่อไปนี้
1. แพทยศาสตร์
2.เภสัชศาสตร์
3. พยาบาล
4. เทคนิคการแพทย์
5.ทันตแพทย์
6 ทหาร ตำรวจ (จปร.)
โอกาสจะได้งานนับว่ายากมากดังนั้น แทนที่จะรอให้ปัญหามาถึง เราก็ป้องกันล่วงหน้า ด้วยการเตรียมพร้อม
คำแนะนำของผมก็คือ เราต้องตั้งเป้าหมายใหม่ แทนที่จะใช้แนวคิดค่านิยมเดิมๆคือเรียนจบเพื่อให้ได้ปริญญา แล้วจะนำปริญญาไปสมัครเข้าทำงานเราก็คิดเสียใหม่ว่าเราเรียนจบเพื่อทำงานได้จะทำอย่างไร ให้ทำงานได้ นี่แหละครับคือสิ่งที่พวกเราต้องเตรียมตัว
หลักการง่ายๆ ที่ใช้เพื่อเตรียมตัว เป็นผู้ ทำงานได้
1.ต้องมีวิชาชีพ
คนที่มีพ่อแม่ทำกิจการ ก็ต้องเริ่มไปช่วยกิจการเลย จะเป็นร้านเล็กๆ บริษัทใหญ่ๆ
ก็แบ่งเวลาไปฝึกทำงาน พอเรียนจบมาก็ทำกิจการได้ มีงานทำทันที
ถ้าพ่อแม่ไม่ได้มีกิจการ ก็ให้ไปเรียนวิชาชีพ
คือเรียนวิชาที่ประกอบอาชีพได้เลยด้วยตนเอง
เช่น ทำขนม เสริมสวย ซ่อมคอมพิวเตอร์ ฝึกเล่นกีฬาเป็นอาชีพ ร้องเพลง
เล่นดนตรี แสดงมายากล ถ่ายภาพ ตัดต่อหนัง ฯลฯคือฝึกเป็นผู้ประกอบการเรื่องนี้ต้องเปลี่ยนแนวคิดเก่าๆ ที่ดูถูกคนทำงาน
การทำงานเป็นสิ่งที่มีเกียรติ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร ยิ่งฝึกฝนก็ยิ่งชำนาญ
เพราะนอกจากจะสร้างงานด้วยตัวเองแล้ว ในอนาคตเมื่อกิจการเติบโตขึ้น เราอาจจะรับคนเข้ามาทำงานได้อีกด้วย
แนวคิดลักษณะนี้ได้แพร่หลายมากในสิงคโปร์ เขาพยายามสร้างผู้ประกอบการ
โดยให้นักศึกษาได้เป็นผู้ประกอบการ ทำกิจการจริง เปิดแผง ขายของ รับออกแบบ พัฒนาสินค้าต่างๆ ออกขายโดยรัฐบาลสนับสนุน ในเรื่องทุนและสถานที่ซึ่งจะทำให้บรรดานักศึกษาเหล่านี้มีประสบการณ์และรู้จักการทำมาหากินและหลายคนก็ทำเงินมีทุนดำเนินกิจการต่อ ก่อนที่จะเรียนจบ
2 ต้องฝึกวิชา ใช่
ผมมีหลักง่ายๆ มาให้ครับ เคล็ดไม่ลับในการฝึก วิชา ใช่ คือสอง ร และสอง อ
ร เรียนรู้
ต้องเป็นผู้เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนเอง
ความรู้ต่างๆ ทุกวันนี้เกิดขึ้นมามากมาย คนที่พร้อมจะทำงาน ต้องมีนิสัยอยากรู้ และเรียนรู้ตลอดเวลา
เราต้องดู และเรียนรู้ตนเอง จุดอ่อนที่ต้องพัฒนา เพื่อก้าวสู่เป้าหมายของเรา
ทุกคนสำเร็จได้ ในวิถีของตนเองครับ
คนที่ไม่รู้เป้าหมาย ไม่รู้ตนเอง เรียนตามคนบอก เรียนตามกระแสไปเรื่อยๆ ยากที่จะสำเร็จครับ
ร รับผิดชอบ
ฝึกเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะไม่ว่างานใดๆ ถ้าขาดความรับผิดชอบ ถึงจะเก่งแค่ไหน ก็ไม่มีใครต้องการให้มาอยู่ร่วมทีมความรับผิดชอบเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการทำงานครับ
อ อดทน
เจ้าของกิจการมากมายมักบ่นให้ฟังว่า เด็กสมัยนี้ใจร้อน รอไม่ได้ ไม่อดทนชอบทำงานเบาๆ แต่อยากได้เงินเดือนสูงๆ ชอบวันหยุดมากๆเมื่อได้รับมอบหมายงานแล้วก็ไม่ต้องใจไม่อดทนไม่ทุ่มเท
นั่นคือสิ่งที่เราต้องปรับปรุงฝึกฝน ต้องอดทนเพื่อความสำเร็จครับ
คนที่เขาเป็นหัวหน้าดูเหมือนทำงานสบายเงินเดือนสูง ส่วนมากเขาก็ได้มาเพราะความอดทนนี่แหละครับ
อ อดกลั้น
ต้องฝึกอดกลั้นต่อความชั่วและสิ่งที่จะสร้างความวุ่นวายให้ชีวิต
ลองถามตัวเองดูว่า เราโกรธง่ายเกินไปไหม อะไรก็ไม่พอใจ
อะไรไม่เป็นอย่างที่หวัง เราก็โกรธ
ถึงจะเก่งแค่ไหน แต่ไม่เคยฝึกจิตใจ ไม่อดกลั้น อารมณ์โกรธวูบเดียวก็อาจนำหายนะมาให้เราได้
คนจำนวนไม่น้อยที่ โดนหลอก โดนต้มเพราะความโลภ
เราโลภเกินไปไหม อะไรก็อยากได้
หลายคนอยากได้ จนต้องโกง
คนมากมายพังก็เพราะความโลภนี่แหละครับ
เริ่มต้นสร้างคุณค่าในตัวเองกันเถอะครับ แล้วเราจะอยู่ในโลก 7,000 ล้านคนนี้อย่างมีความสุขและไม่ตกงาน
จาก futurecareer.eduzones.com