วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กระบวนทัศน์ของ “จิตศึกษา” ประกอบด้วย

กระบวนทัศน์ของ  จิตศึกษา”  ประกอบด้วย
1.       การใช้จิตวิทยาเชิงบวก
2.       การสร้างชุมชนและวิถีของชุมชน
3.       การจัดกระทำผ่านกิจกรรมและเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

     เริ่มต้นในปีแรกๆ นั้น กระบวนการจิตศึกษาในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมเด็กให้สงบ ผ่อนคลาย และให้กลับมารู้เนื้อรู้ตัวก่อนเรียนทุกวัน
     หลังจากการดำเนินกระบวนการจิตศึกษาได้หนึ่งปี พบว่า เด็กทุกคนสงบได้ง่ายขึ้น จิตใจที่สงบก็จะนำมาซึ่งการรับฟังกันได้ลึกซึ้ง เกิดการใคร่ครวญ สามารถรับรู้และเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ หรือสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
หลัง จากนั้นโรงเรียนจึงได้พัฒนากระบวนการและกิจกรรมขึ้นมาเป็นลำดับ จนปัจจุบันพบว่า เมื่อครูใช้กระบวนการจิตศึกษาเพื่อขัดเกลาเด็ก ในขณะเดียวกันนั้นครูก็ได้ขัดเกลาความฉลาดด้านในของตนเองไปด้วย "จิตศึกษา" จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของโรงเรียนในการพัฒนาครู เพื่อยกระดับจิตวิญญาณครูให้มี "หัวใจของความเป็นครูอย่างแท้จริง" 
     ส่วนในตัวเด็ก กระบวนการจิตศึกษาได้ยก ระดับความฉลาดด้านจิตวิญญาณ และความฉลาดด้านอารมณ์ ให้เห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง การน้อมนำของสิ่งที่ดีงามเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมของนักเรียน ให้อยู่ในภาวะคลื่นสมองต่ำเพื่อให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้
                                          ที่มา :http://lamplaimatpattanaschool.blogspot.com/2012/02/blog-post.html

ปัญญาภายใน

ปัญญาภายในที่เราทั้งหมดโหยหาทั้งเป็นเครื่องค้ำชูชีวิตกลับกลายเป็นสิ่งขาดแคลนเหลือเกินในภาวะปัจจุบัน  การสร้างจึงต้องให้ครบถ้วนทั้งปริยัติ  ปฏิบัติ  และ  ปฏิเวธ
ปัญญาภายใน หรือ ความฉลาดด้านในหมายรวมถึงความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ(SQ)  และ ความฉลาดทางด้านอารมณ์(EQ)  ซึ่งได้แก่ 
      การรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง(รู้ตัว)  และการรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น  มีความสามารถจัดการอารมณ์หรือปรับสมดุลทางอารมณ์ของตนเองได้   
การเห็นคุณค่าในตัวเอง  คนอื่น  และสิ่งต่างๆ  เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย  
การอยู่ด้วยกันอย่างภารดรภาพ  ยอมรับในความแตกต่าง  เคารพและให้เกียรติกัน  การมีวินัย  มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม  อยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย
การมีสติอยู่เสมอ  รู้เท่าทันอารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุด หรือ ไปต่อ กับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ 
การมีสัมมาสมาธิ   เพื่อกำกับความเพียรให้การเรียนรู้หรือการทำภาระงานให้ลุล่วง  มีความอดทนทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่างๆ  นอบน้อมต่อสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่   
การมีจิตใหญ่มีความรักความเมตตามหาศาล