วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557

การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู ไปใส่บัญชีแบงค์ชาติ

การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู ไปใส่บัญชีแบงค์ชาติ



- นสพ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 เมษายน 2557 มีการสัมภาษณ์ ดร ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าแบงค์ชาติ ท่านเปิดเผยว่าต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก จากภาคการเมือง 3 ครั้ง


- ครั้งที่ 1 ทางการเมืองต้องการนำเงินสำรองระหว่างประเทศ ออกไปตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund)


- ครั้งที่ 2 การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูมาไว้ที่แบงค์ชาติ


- ครั้งที่ 3 ความพยายามที่จะบีบให้แบงค์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบาย


- ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 นั้น เกิดขึ้นในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ผมจึงขอถือโอกาสให้ข้อมูลเบื้องหลัง โดยจะพูดถึงเรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟูก่อน


- กองทุนฟื้นฟู ก่อภาระต่องบประมาณของรัฐบาล


- หนี้กองทุนฟื้นฟู เกิดขึ้นในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 ในขณะนั้น ผู้ฝากเงินตื่นตระหนก จึงได้แห่ไปถอนเงินกันใหญ่ ทำให้สถาบันการเงินขาดสภาพคล่องอย่างกว้างขวาง ทั้งบริษัทเงินทุน และต่อมาปัญหาก็ลุกลามไปยังแบงค์พาณิชย์


- ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงิน เพื่อใช้จ่ายคืนผู้ฝากเงิน เป็นการประคับประคองสถานการณ์ โดยให้กู้เงินผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟู


- การดำเนินการดังกล่าว ก็เพื่อช่วยเหลือผู้ฝากเงิน ให้ได้รับเงินฝากคืนโดยไม่เสียหาย เพราะในขณะนั้น ยังไม่มีระบบประกันเงินฝาก


- ต่อมารัฐบาลได้เข้าไปรับภาระหนี้ดังกล่าว แทนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลขายให้แก่ประชาชน


- ทุกๆ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจึงมีภาระต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับหนี้ดังกล่าว เป็นเงินปีละหลายหมื่นล้านบาท


- การที่รัฐบาลไทย เข้าไปรับภาระจากการช่วยเหลือผู้ฝากเงินนั้น ก็เหมือนกับที่ประเทศอื่นๆ เขาทำกัน


- อย่างไรก็ดี เนื่องจากการชำระดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นภาระต่อนโยบายการคลัง จึงคาดว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา คงได้พยายามคิดเพื่อหาวิธี ที่จะลดภาระของรัฐบาลมาโดยตลอด แต่ยังหาวิธีที่เหมาะสมไม่ได้

- แนวคิดที่จะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู ใส่บัญชีแบงค์ชาติ

- เมื่อผมเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในเดือนสิงหาคม 2554 ผมได้พบกับ ดร. วีระพงษ์ รามางกูร ซึ่งเสนอแนวคิดให้โอนหนี้ดังกล่าว จากกระทรวงการคลัง ไปให้เป็นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยแทน


- ผมได้ยกแนวคิดนี้หารือ ดร. ประสาร ในช่วงก่อนปลายปี 2554


- ดร. ประสารไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ฐานะของธนาคารแห่งประเทศไทยทรุดลงอย่างหนัก จะทำให้ตัวเลขในบัญชี ขาดทุนเกินทุน (negative net worth) พุ่งขึ้นเป็นจำนวนเงินสูงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้าข่ายล้มละลาย


- สถาบันการเงินต่างประเทศ อาจจะหมดความเชื่อมั่น และอาจจะไม่ค้าขายทำธุรกิจกับธนาคารแห่งประเทศไทย


- นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าว จะมีผลทางเศรษฐกิจเท่ากับรัฐบาลบีบบังคับ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพิมพ์เงินออกมา เพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งจะทำให้ฐานะของประเทศ หมดความเชื่อถือไปด้วย


- เมื่อฟังดังนี้ ผมก็เห็นสอดคล้องกับ ดร. ประสาร


- ผมจำได้ว่าเย็นวันนั้น เมื่อกลับไปถึงบ้าน ผมได้เล่าเหตุการณ์ให้ภริยาฟัง และในการปรึกษาหารือกัน เราเห็นร่วมกัน ว่าผมจะไม่ยอม บังคับให้ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทำในสิ่งที่เป็นอันตรายแก่ประเทศอย่างเด็ดขาด

- หาทางช่วยเรื่องน้ำท่วม


- ในระหว่างนั้น ผมได้หารือกับ ดร. ประสารถึงความเป็นไปได้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ (soft loan) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน ที่ประสบปัญหาจากน้ำท่วมใหญ่ จะสามารถกู้เงินไปฟื้นฟูตนเองได้


- สำหรับการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษทำนองนี้ ในอดีตนานมาแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยดำเนินการเป็นปกติ โดยเน้นการให้กู้แก่ธุรกิจบางอย่าง ที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนเป็นพิเศษ


- ในอดีต การกระทำดังกล่าวนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ โดยไม่มีผลต่อการบริหารนโยบายการเงินมากนัก เพราะในช่วงเวลานั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เป็นหลัก


- แต่ภายหลัง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยเปลี่ยนไปใช้กรอบเงินเฟ้อ การให้กู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยาก ในการบริหารปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ


- ดังนั้น หลายปีมาแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้เสนอ แก้ไขกฎหมาย ปิดช่องทางที่จะดำเนินการแบบนี้


- ผมพิจารณาแล้วเห็นว่า หากสมมุติธนาคารแห่งประเทศไทย จะเปิดให้มีการให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษอีกครั้งหนึ่ง ในด้านความยุ่งยากต่อการดำเนินนโยบายการเงินนั้น น่าจะบริหารจัดการได้ไม่ยากนัก เพราะปริมาณเงินที่จะให้กู้ เป็นจำนวนที่ไม่มากนัก


- ผลกระทบหลัก จะทำให้กำไรของธนาคารแห่งประเทศไทยลดลงเล็กน้อย


- อย่างไรก็ดี เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้น มีผลกระทบต่อประชาชนรายย่อยอย่างกว้างขวาง


- ภายหลังเมื่อน้ำลดลงไปแล้ว ผู้คนจำนวนมากจำเป็นจะต้องใช้เงินมหาศาล ในการซ่อมแซมบ้านและรถยนต์ รวมไปถึงกิจการขนาดย่อมและขนาดจิ๋วที่เครื่องมือหากินเสียหาย ก็จำเป็นต้องมีการใช้เงินเพื่อจัดหาใหม่หรือซ่อมแซม


- หากผู้คนเหล่านี้ ไม่สามารถกู้เงินจากระบบสถาบันการเงินได้ เขาก็ต้องไปกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งคิดดอกเบี้ยในอัตราที่โหดร้าย จะทำให้ลูกหนี้จมปลักจนถอนตัวไม่ขึ้น


- ดังนั้น หากธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถเปิดโครงการดังกล่าว ก็จะเป็นการเปิดช่องให้ประชาชนกลุ่มนี้ สามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบเพื่อนำไปแก้ปัญหาได้


- แต่จะทำได้ ต้องออกเป็นกฎหมายเฉพาะ

- นำไปสู่พระราชกำหนด

- ผมจึงได้ยกขึ้นหารือทั้ง ดร. ประสาร และ ม.ร.ว. จตุมงคล โสณกุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย


- โชคดีที่ทั้งสองท่านเห็นคล้อยตามผม แต่ทั้งสองท่านขอตั้งเงื่อนไข ให้เขียนในกฎหมายให้ชัดเจนที่สุด ว่าเป็นการดำเนินการเฉพาะกิจ เนื่องจากเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติจริงๆ เพื่อไม่ให้ทำบ่อยๆ


- นอกจากนี้ โครงการกู้ยืมดังกล่าว ควรจะกำหนดขอบเขต ช่วยเหลือเฉพาะรายย่อยเท่านั้น ซึ่งผมก็เห็นด้วยเช่นกัน


- ต่อมาในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2554 ผมได้แจ้งผลการเจรจาดังกล่าวแก่นายกยิ่งลักษณ์ ซึ่งนายกยิ่งลักษณ์ก็แสดงท่าที พอใจในนโยบายดังกล่าว ผมจึงประสานงานกับ ดร. ประสารเพื่อยกร่างพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้องเตรียมไว้


- อย่างไรก็ดี ในการยกร่างพระราชกำหนด soft loan ดังกล่าว ก็เกิดเหตุการณ์ที่ผมคาดไม่ถึง

- การสอดแทรกพระราชกำหนด

- ในวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ก่อนหน้าการประชุมคณะรัฐมนตรีเพียงเล็กน้อย คุณอำพน กิตติอำพน ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มากระซิบแจ้งผมว่ามีปัญหาใหญ่เสียแล้ว


- คุณกิตติรัตน์ได้เซ็นหนังสือ เสนอเรื่องขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันนั้น ให้มีการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท จากกระทรวงการคลัง ไปให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย


- ในการเสนอเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังโดยตรง แต่คุณกิตติรัตน์กลับมิได้ปรึกษาหารือผมแม้แต่น้อย


- คุณกิตติรัตน์ได้เป็นผู้เสนอเรื่องดังกล่าวด้วยตนเองเอง โดยอาศัยตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงการคลัง


- แต่วิธีการเสนอเรื่องนั้น ก็ทำเป็นหนังสือสั้นๆ ใช้กระดาษเพียงสองแผ่น


- กระดาษสองแผ่นดังกล่าว ไม่มีการแสดงเหตุผลทางวิชาการ หรือผลกระทบต่อธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด


- ในหนังสือดังกล่าว อ้างความเห็นจากการประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้าง อนาคตประเทศไทย (กยอ.) ซึ่ง ดร. วีระพงษ์เป็นประธาน และกล่าวว่า กยอ. ได้ลงมติให้เสนอเรื่องนี้แก่คณะรัฐมนตรี


- การอ้างอิง กยอ. นั้น ทำให้ผมเองงง เพราะผมเองก็มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้หนึ่งใน กยอ. ดังกล่าว แต่ตัวผมไม่เคยได้รับแจ้ง ให้ไปร่วมประชุม กยอ. เพื่อพิจารณามติดังกล่าวแม้แต่น้อย และไม่ทราบว่ามีการประชุมที่กล่าวอ้างตั้งแต่เมื่อใด

- ถึงจุดที่ต้องแยกกันเดิน

- ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี คุณกิตติรัตน์ได้เดินข้ามโต๊ะมาหาผม แล้วคุยผมว่า ในการพูดคุยกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุม ขอให้ผมแสดงความเห็น ในลักษณะที่สอดคล้องกับเขา


- ผมก็แจ้งคุณกิตติรัตน์ไปว่า เรื่องการที่จะโอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไปไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ผมได้หารือกับ ดร. ประสารแล้ว เราทั้งสองเห็นพ้องกัน ว่าไม่สมควรดำเนินการ เพราะจะเป็นอันตรายต่อธนาคารแห่งประเทศไทย และต่อประเทศ


- ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อถึงระเบียบวาระนี้ คุณกิตติรัตน์นำเสนอเรื่องด้วยตนเอง


- คุณกิตติรัตน์ได้อ้างว่า ในอดีตปี 2540 นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีฐานะอ่อน รัฐบาลในขณะนั้นจึงไม่มีทางเลือก รัฐบาลต้องเข้าไปแบกรับหนี้ดังกล่าวไว้


- แต่บัดนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีฐานะแข็งแกร่งแล้ว รัฐบาลจึงควรจะโอนหนี้ดังกล่าวไปให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย


- อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ผมยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผมไม่สามารถปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปได้


- ผมจึงแจ้งคณะรัฐมนตรี ว่าข้อเสนอดังกล่าวมีปัญหามาก และมีประเด็นที่จำเป็นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะที่ผ่านมาผมได้เคยหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ผู้ว่าการไม่เห็นด้วย คณะรัฐมนตรีจึงยังไม่สมควรอนุมัติเรื่องนี้


- แต่นายกรัฐมนตรีควรจะมอบหมาย ให้คุณกิตติรัตน์ไปนัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเคลียร์ประเด็นปัญหาต่างๆ ให้หมดสิ้นไปเสียก่อน


- เนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยประเพณีจะใช้มติเอกฉันท์เสมอ ดังนั้น เมื่อผมยืนยันเช่นนั้น นายกยิ่งลักษณ์ก็ไม่มีทางเลือก และได้ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่ผมเสนอ


- ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีดังกล่าว คุณกิตติรัตน์ได้แถลงแก่ผู้สื่อข่าว ว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ


- ในทางกลับกัน ผมแถลงแก่ผู้สื่อข่าวที่กระทรวงการคลัง ว่าคณะรัฐมนตรียังไม่อนุมัติ แต่ได้มอบให้คุณกิตติรัตน์ไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน


- เรื่องนี้ทำให้สื่อมวลชนตระหนัก ว่ามีความขัดแย้งระหว่างเราทั้งสองอย่างหนัก จากนี้จะแยกกันเดินเสียแล้ว

- ผลักภาระให้แบงค์

- ในสัปดาห์ต่อมา คุณกิตติรัตน์ได้จัดประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ


- เนื่องจากผมได้ทำใจไว้แล้ว ว่าจะไม่ยึดติดกับตำแหน่ง ผมจึงผนึกกำลังกับ ดร. ประสาร ยืนยันต่อที่ประชุมอย่างหนักแน่น ว่าการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไปให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ทำไม่ได้ เพราะจะทำให้ประเทศได้รับความเสียหายอย่างหนัก


- ที่ประชุมถึงทางตัน และพยายามหาทางออกต่างๆ โดยเลขาธิการกฤษฎีกาได้พยายามช่วย โดยคิดหาวิธีพลิกแพลงทางกฎหมาย ว่าทำอย่างไร จึงจะไม่ต้องนับหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งผมแจ้งว่ากระทำไม่ได้อีกเช่นกัน


- โชคดีที่ในวันนั้น ผมได้แว่บนึกถึงแนวคิดของ ประธานาธิบดีโอบามา ที่เพิ่งจะออกกฎหมาย เพื่อให้อำนาจรัฐบาล โอนภาระการอุ้มชูระบบสถาบันการเงินช่วงวิกฤต ไปให้แก่สถาบันการเงินที่เหลืออยู่


- ผมจึงได้เสนอที่ประชุม ว่าแทนที่จะผลักภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไปให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรกำหนดให้สถาบันการเงินที่เหลืออยู่ทั้งระบบ เป็นผู้เข้ามารับภาระดังกล่าวแทน โดยวิธีเก็บเบี้ยรายปีจากสถาบันการเงิน ตามขนาดเล็กใหญ่


- แนวคิดนี้ถือได้ว่าเป็นธรรม เพราะสถาบันการเงินที่ยังดำรงอยู่ได้ในขณะนี้ ก็เนื่องจากทางการเข้าไปรับภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ไว้ในอดีต


- สถาบันการเงินในปัจจุบัน จึงเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวโดยตรง และสมควรเป็นผู้ที่เข้ามาร่วมรับภาระ นอกจากนี้ ในหลายปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินในไทยก็มีกำไรมากทุกปี


- ที่ประชุมพิจารณาแล้ว ไม่เห็นทางออกวิธีอื่น จึงได้มีมติเห็นด้วยตามข้อเสนอของผม และมอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป


- แนวทางที่ผลักภาระการแก้ปัญหาระบบในอดีต ไปให้แก่สถาบันการเงินที่เหลืออยู่ในปัจจุบันนั้น ผมได้ความคิดนี้ มาจากกฎหมายที่เพิ่งออกใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงก่อนหน้านั้นไม่นาน โดยประธานาธิบดีบาแรค โอมามา


- โอบามาเล็งเห็นว่า การที่รัฐบาลใช้เงินของผู้เสียภาษีทุกคนทั้งประเทศ ไปในการแก่ปัญหาระบบสถาบันการเงินนั้นไม่เป็นธรรม จึงได้ออกกฎหมาย เพื่อผลักภาระนี้ให้แก่สถาบันการเงิน เพื่อจะผลักต่อไป ให้แก่ลูกค้าอีกทอดหนึ่ง


- พูดภาษาง่ายๆ เงินแก้ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงิน ต้องมาจากกระเป๋าของผู้ฝากเงิน ลูกหนี้ และผู้ใช้บริการอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง ไม่ใช่เอาจากกระเป๋าของประชาชนทั้งประเทศ โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นลูกค้าแบงค์หรือไม่


- ปรากฏว่า ภายหลังจากที่มีการประกาศแนวทางนี้ต่อสาธารณะไปแล้ว ผมได้เจอกับคุณกรณ์ จาติกวณิช ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อนหน้าผม


- คุณกรณ์เองก็แจ้งผม ว่าเขาชอบใจแนวคิดนี้ด้วย
 

- สี่พระราชกำหนด

- ในสัปดาห์ถัดมา คณะรัฐมนตรีมีการประชุมในวันที่ 4 มกราคม 2555


- คุณกิตติรัตน์ได้ให้สำนักงานกฤษฎีกายกร่างพระราชกำหนดรวม 4 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องการบริหารจัดการหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และเรื่องธนาคารแห่งประเทศไทยให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำพิเศษไว้ด้วย


- แต่ก็ยังมีข้อยุ่งยากอีกข้อหนึ่ง


- ในร่างพระราชกำหนดเกี่ยวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ นั้น มีมาตรา 7 (3) ซึ่งกำหนดให้คณะรัฐมนตรี มีอำนาจที่จะสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย โอนเงิน หรือโอนสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อไปเข้าบัญชีที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู


- ร่างดังกล่าวจึงเป็นการให้อำนาจแก่รัฐบาล แบบตีเช็คเปล่า


- บ่ายวันนั้น ผมได้ข้อมูลว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีข้อกังวลมาตรานี้ด้วย


- ในวันถัดมา วันที่ 5 มกราคม 2555 มีการประชุมคณะเจ้าหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีคุณกิตติรัตน์เป็นประธานที่ประชุม ผมแจ้งที่ประชุมว่า ไม่สมควรมีข้อกำหนดเช่นนี้


- คุณกิตติรัตน์แสดงอารมณ์เสีย และโต้แย้งยืนยันให้คงถ้อยคำในมาตรา 7 (3) ไว้ดังเดิม โดยอ้างว่าประชาชนควรจะให้เกียรติคณะรัฐมนตรีบ้าง ประชาชนควรจะเชื่อว่าคณะรัฐมนตรีจะต้องใช้ดุลพินิจอย่างถูกต้อง


- ในการประชุมดังกล่าว ปรากฏว่าคุณกิตติรัตน์ มิได้นัดผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยมาร่วมด้วย ผมคาดว่า เนื่องจากคุณกิตติรัตน์คงไม่ต้องการเปิดช่อง ให้ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาต่อรองถ้อยคำในร่างพระราชกำหนด ผมจึงเป็นเสียงเดียวที่ถกเถียงประเด็นนี้


- แต่ผมยืนยันหนักแน่น ว่าถ้าไม่แก้ไข ผมก็จะคัดค้านในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี


- จึงเป็นการทิ้งไพ่ใบเด็ด เพราะเรื่องที่จะผ่านคณะรัฐมนตรีได้นั้น จะต้องเห็นชอบแบบเอกฉันท์ โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน


- ต่อมา คุณกิตติรัตน์ได้ยินยอมให้มีการแก้ไขมาตรา 7 (3)


- ดร. ประสารพูดใน นสพ กรุงเทพธุรกิจดังกล่าว ว่าคุณกิตติรัตน์ได้ไปพบ เพื่อพยายามชักจูงให้ ดร. ประสารยอมรับร่างมาตรา 7 (3) ที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี แต่ ดร. ประสารไม่เห็นด้วย


- ผมไม่ทราบว่าคุณกิตติรัตน์ไปนัดคุยกับ ดร. ประสาร ก่อนหรือหลังวันที่ 5 มกราคม 2555


- ต่อมาในสัปดาห์ถัดไป ก็มีการเสนอร่างพระราชกำหนด 4 ฉบับต่อคณะรัฐมนตรี


- เนื่องจากได้มีการแก้ไขในประเด็นนี้อย่างเรียบร้อย ผมจึงให้ความเห็นชอบ


- หลังจากนั้น ผมก็ถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 18 มกราคม 2555

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ11 กันยายน 2558 เวลา 03:22

    เรามีรัฐบาลที่ได้รับการอนุมัติและผู้ให้กู้สินเชื่อได้รับการรับรอง บริษัท ของเราไม่ได้มีเงินให้สินเชื่อตั้งแต่ส่วนบุคคลเงินให้สินเชื่ออุตสาหกรรมเพื่อผู้ที่สนใจหรือ บริษัท ที่กำลังมองหาเพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงินในอัตราดอกเบี้ยเจรจาโอกาส 2% ที่จะล้างฝ่ายของคุณ. เริ่มต้นหรือธุรกิจเพิ่มคุณ ด้วยเงินกู้จากเงินให้กู้ยืมที่ บริษัท ของเราได้รับในปอนด์ (£) ดอลลาร์ ($) และยูโร ดังนั้นใช้สำหรับเงินกู้ในขณะนี้ผู้ที่สนใจควรติดต่อเราสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรอกข้อมูลข้อมูลของผู้กู้ ติดต่อเราตอนนี้ผ่าน: jenniferdawsonloanfirm20@gmail.com
    (2) รัฐ:
    (3) ที่อยู่:
    (4) เมือง:
    (5) เพศ:
    (6) สถานภาพ:
    (7) การทำงาน:
    (8) หมายเลขโทรศัพท์มือถือ:
    (9) รายได้รายเดือน:
    (10) วงเงินกู้ที่จำเป็น:
    (11) ระยะเวลาของเงินกู้ที่:
    (12) วัตถุประสงค์เงินกู้:

    ขอบคุณสำหรับความเข้าใจของคุณในขณะที่เรามุ่งหวังที่จะได้ยินจากคุณเร็ว ๆ นี้

    E-Mail: jenniferdawsonloanfirm20@gmail.com

    ตอบลบ