วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

ทัศนคติ... เปลี่ยนคนให้เก่งได้จริงหรือ?



วันนี้ผมเรียกยุ้ย เลขาของผมให้ลองช่วยทำงานชิ้นหนึ่ง แม้ตัวผมเองก็รู้ว่ามันยาก แต่ก็คิดว่าลองดูละกัน เลยเรียกเธอมาแล้วให้งาน
"ยุ้ยครับ ลองช่วยพี่หาวิธีประดิษฐ์กระเป๋าเดินทาง ที่เราสามารถยืนขี่มันไปภายในสนามบิน แทนที่จะต้องลากมันให้เมื่อยทั้งแขนและขาได้มั้ยครับ?" ผมถาม
คุณผู้อ่านลองทายดูสิครับว่าเธอตอบผมว่ายังไง?





1. "แฮะๆ... หนูทำไม่เป็น ทำไม่ได้หรอกค่ะ"
2. "น่าจะได้นะคะ... หนูขอลองคิดและหาข้อมูลดูก่อนนะคะ"
ข้อ 2 ครับ! แม้เธอเองจะไม่ได้จบวิศวะหรือสถาปัตย์มา แต่เธอมีทัศนคติด้านบวก มีความเชื่อในความคิดที่ว่า มันน่าจะเป็นไปได้ และนั่นคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เธอเป็นคนเก่ง ทำอะไรก็สำเร็จอยู่เสมอ
ทัศนคติ หมายถึง ความรู้สึกนึกคิดของบุคคลที่มีต่อวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่ามีลักษณะอย่างไร มีความรู้สึกทางบวกหรือทางลบ ชื่นชอบหรือไม่ชื่นชอบ หรือเห็นด้วยหรือคัดค้าน
คนเราจะเก่ง หรือไม่เก่ง ขึ้นอยู่กับ “ทัศนคติ” ของแต่ละคน เวลาเจอสิ่งที่ท้าทายหรือโจทย์ๆหนึ่ง บางคนบอกกับตัวเองว่า... "ฉันไม่เก่ง!"... "ฉันทำไม่ได้หรอก!" คือมองเห็นแต่ปัญหา ที่เขาเรียกกันว่า “แพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นชก” หรือปิดประตูความสำเร็จนั่นเอง
ส่วนคนเก่ง นั้นสิ่งที่แตกต่างจากคนไม่เก่งอย่างชัดเจนก็คือ “ทัศนคติ" นั่นเอง ผมเคยเขียนเล่าถึงลุงสังเวียน พนักงานอาวุโสที่บริษัทบีบีดีโอของผม แกอายุหกสิบกว่า ปลดเกษียณจากการเป็นพนักงานส่งเอกสาร แล้วมาลองทำหน้าที่ตัดต่อ ดั๊บเทปประจำออฟฟิศผม ลุงสังเวียนเนี่ยแหละที่ช่วยหาทางประดิษฐ์ "นํ้าพุรูปดอกชบา" ที่ผมฟุ้งอยากจะทำให้มันเปิดปิดเองตามแสงอาทิตย์ ถ้าคุณยังจำได้... แกเป็นอีกคนหนึ่งที่มี "ทัศนคติในทางบวก" มุ่งมั่น เพียรพยายาม หาวิธีเพื่อทำสิ่งยากๆให้เป็นไปได้ ทุกวันนี้ผมชวนแกเข้าประชุมครีเอทีฟด้วยเสมอ เพราะผมชอบทัศนคติของแก ที่ช่วยส่งเสริม และสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆในออฟฟิศ "ฮึดสู้" ครับ
ไม่มีใครเก่งแบบพรวดพราดหรอก ผมเชื่อเรื่องทัศนคติในทางบวก... และการฝึกฝนแบบเฉพาะเจาะจง (deliberate practice) ซึ่งถูกใช้ในการพัฒนาคนเก่งๆ รวมทั้งนักกีฬาระดับโลกอย่าง ราฟาเอล นาดาล ที่เริ่มหัดเล่นเทนนิสตั้งแต่อายุ 4 ขวบ โรเจอร์ เฟดเดอเรอ และโนวัค ยอโควิช ที่เริ่มจับแรคเก็ตตอน 8 ขวบ... หรือนักกอล์ฟดังอย่าง ไทเกอร์ วู้ดส์ ที่หัดเล่นกอล์ฟตั้งแต่อายุยังไม่ 2 ขวบ พวกเขาเหล่านี้ล้วนถูกฝึกฝนมาอย่างหนักและยาวนานหลายพันหลายหมื่นชั่วโมง จนประสบการณ์ ฝีมือ และความคิด ตกผลึกจนเป็นแชมป์เด็ก แชมป์เยาวชน แชมป์จังหวัด แชมป์เขต แชมป์ประเทศ แล้วในที่สุดก็กลายมาเป็นแชมป์โลกครับ
"ตีลูกมาให้โดนกรวย! ยังไม่โดน... เอาใหม่ ตั้งใจหน่อย! เล็งมาที่กรวยก่อน จำตำแหน่งไว้ แล้วตอนตีตามองลูก ตัวนิ่งแล้วฟอลโลว์ทรูให้สุด!" ครูหนุ่ม พิชิตชัย อดีตนักเทนนิสทีมชาติไทย ปัจจุบันเป็นโค้ชเทนนิสที่ราชกีฑาสโมสร พยายามสอนผม
"ครูหนุ่มครับ ผมไม่ได้ท้อนะครับ แต่บั้นเอวผมมันท้อแล้วก็ยอกแล้ว... ขอพักก่อนนะวันนี้" ผมบอกแกพร้อมกับเดินเป๋ เอามือจับบั้นเอวออกมานอกคอร์ทเทนนิส
"ผมห้าสิบแล้วนะ ไม่ใช่สิบห้า แล้วก็ไม่ใช่นาดาลด้วย... ขืนฝึกแบบนี้ คงต้องมีคนมาหามกลับบ้านนะครับครู" ผมโอดครวญ

"โอเคครับ งั้นก็ตีเท่าที่ทำได้ละกัน" เขาตอบ
ผมคิดในใจว่า นี่ถ้าผมเจอโค้ชคนนี้ตั้งแต่ผมเป็นเด็ก ตอนผมยังมีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพ ผมคงฟินมาก แล้วก็คงอาจจะคว้าแชมป์เทนนิสกับเขาบ้างแล้ว (ในชีวิตเคยได้แค่ถ้วยกีฬาสี!) แต่นี่ดันมาเจอแกตอนแก่ ไปตีที... ก็ต้องไปนวดที แถมแกก็ฝึกผมแบบเฉพาะเจาะจงอีกต่างหาก ผมเลยบอกลาแก แล้วมาขี่จักรยานแทนครับ (แกคงคิดว่าผมคงหายไปหัดเล่นเปตอง... ไพ่นกกระจอก... หรือไม่ก็ไปหัดเต้นลีลาศแทนแน่ๆเลย)
สรุป... ใครอยากเก่ง ก็ต้องมีทัศนคติในทางบวก คิดว่าต้องทำได้ แล้วก็ฝึกฝนแบบเฉพาะเจาะจง เฉพาะด้าน หรือวิชาชีพนั้นๆ เช่น นักร้องก็ฝึกร้องเพลง เชฟก็ฝึกทำอาหาร แพสทรี่เชฟก็ฝึกทำขนม ครีเอทีฟก็ฝึกคิดงานครีเอทีฟ ฝึกไปจนกว่าจะเก่ง จงเชื่อในพรแสวง ว่าเป็นบิดาของพรสวรรค์ เชื่อเถอะว่า คุณทำได้ แล้วสักวันคุณจะเก่งเอง อ้อ! เกือบลืมบอกไปว่า... ถ้าเก่งแล้วอย่าลืมถ่อมตัวด้วย เพราะไม่มีใครชอบคนขี้โม้หรอกครับ

Credit : https://www.facebook.com/Suthisak.Sucharittanonta/posts/10153028251241952?fref=nf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น