วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2557

ท้าวปาจิต – นางอรพิม

        ปาจิตตกุมารชาดกนี้เป็นนิทานชาดกเรื่องหนึ่งใน ปัญญาสชาดกอัน เป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ที่ได้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ เพื่อบำเพ็ญบุญบารมีให้ครบถ้วน ๓๐ ทัศน์(บารมี ๓๐ ทัศน์) ในการที่จะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นองค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้านั่นเอง
            แต่ที่น่าสนใจและน่าตั้งข้อสังเกตก็คือว่า เรื่องราวของชาดกนี้ตรงกันกับเรื่อง ท้าวปาจิต-นางอรพิมซึ่งเป็นตำนานของ เมืองพิมาย(อำเภอ พิมาย จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราชของไทยในปัจจุบัน)ซึ่งเกิดขึ้นในยุคขอมเรือง อำนาจในสุวรรณภูมิทวีปแห่งนี้ ราวๆพุทธศตวรรษที่๑๕-๑๖(ยุคนั้นยังไม่มีราชอาณาจักรสยามหรือประเทศไทยของเรา แต่อย่างใด) ซึ่งยังพอมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้สามารถศึกษาค้นคว้าได้จนถึงทุกวันนี้ และเรื่องนี้ก็มีการบอกต่อและเล่าเป็นตำนานและเป็นนิทานพื้นบ้านสืบต่อมาจน กระทั่งถึงทุกวันนี้
            เนื้อเรื่อง(โดยย่อ) :
             ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ในดินแดนสุวรรณภูมินี้ ซึ่งมี ท้าวปาจิต ได้เกิดเป็นโอรสของ พระเจ้าอุทุมราชกับ พระอัครมเหสี "สุวรรณเทวี"กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองนครธมแห่งราชอาณาจักรขอมอันยิ่งใหญ่และ เกรียงไกรมากที่สุดในยุคนั้น เมื่อเจริญวัยเป็นหนุ่ม(พระชันษาประมาณ ๑๕ ปี) พระบิดาก็ให้เลือกคู่ครองโดยการให้ทหารไปประกาศเรียกหญิงสาวบรรดามีในมหานคร และหัวเมืองประเทศราชทั้งหลายนั้นมาให้ท้าวปาจิตเลือกเป็นคู่ครอง สาวๆที่มานั้นมีทั้งลูกสาวเสนา อำมาตย์ ข้าราชการ ลูกพ่อค้า ชาวนา ชาวไร่ มากันจนหมดเมือง แต่ท้าวปาจิตไม่สนใจเลยแม้สักคนเดียว จึงมิได้คล้องมาลัยให้สาวคนไหนแต่อย่างใด พระเจ้าอุทุมราชทรงกลุ้มพระทัย จึงได้ให้โหรทำนายโชคชะตาราศีและเนื้อคู่แก่พระโอรส โหรหลวงตรวจดูดวงชะตาตามวันเดือนปีเกิดแล้วกราบทูลว่าเนื้อคู่ของท้าวปาจิต ยังไม่เกิด ขณะนี้อยู่ในครรภ์หญิงชาวนาผู้หนึ่งในเขตเมืองพิมายอันเป็นเมืองประเทศราช ของนครธมซึ่งอยู่ทางทิศพายัพของพระนครธม โดยท้าวปาจิตจะต้องเดินทางไปหาหญิงผู้นั้นและอภิบาลครรภ์ตลอดจนอบรมและ เลี้ยงดูกุมารีด้วยพระองค์เอง ซึ่งจะสามารถสังเกตได้ง่ายว่าหญิงคนนั้นกำลังมีครรภ์และมีเงากลดกางกั้นอยู่ เหนือศรีษะ ไม่ว่าจะเดินไปไหนและทำอะไรอยู่กลางแจ้งก็ตาม

            ท้าว ปาจิตไม่รอช้า รีบเร่งเสด็จออกเดินทางไปตามคำทำนายของโหรจนกระทั่งมาถึงเขตเมืองพิมาย ท้าวปาจิตไม่แน่ใจจึงกางแผนที่ออกดูที่ตรงนั้นเรียกในภายหลังว่า บ้านกางตำรา และเพี้ยนเป็น บ้านจารตำรา ท้าวปาจิตข้ามถนนเพื่อเข้าเขตเมือง บริเวณนั้นเรียกว่า บ้านถนนแล้วเดินมาตามทางถึงหมู่บ้านหนึ่งมีต้นสนุ่นมาก ได้ชื่อว่า บ้านสนุ่น เลยบ้านสนุ่นก็มาถึงท่าน้ำใหญ่ ปัจจุบันเรียก บ้านท่าหลวง แต่ปรากฎว่าเป็นทางผิด จึงไปอีกทางหนึ่งถึง บ้านสำริด พบหญิงครรภ์แก่ชื่อ ยายบัว กำลังดำนาอยู่ เหนือศรีษะของนางมีเงาคล้ายกลดกั้นอยู่ ก็แน่ใจว่าใช่ตามคำทำนาย จึงเข้าไปแสดงตัวว่าเป็นใคร มีความประสงค์อะไร และแสดงความตั้งใจว่าจะอยู่ช่วยทำนาให้จนกว่าจะคลอดลูก หากลูกคลอดออกมาเป็นชายจะยกย่องให้เป็นน้องชาย แต่ถ้าเป็นหญิงจะขอนำไปเป็นมเหสี ซึ่งยายบัวและสามีชื่อ นายมีก็ตกลง และพระองค์ได้ขอร้องไม่ให้เปิดเผยตัวตนของพระองค์ให้ใครทราบแม้แต่ลูกที่กำลังจะคลอดออกมาก็ตาม

            ท้าว ปาจิตอาศัยอยู่กับยายบัวและนายมีเรื่อยมา โดยช่วยทำงานหนักทุกอย่างทั้งๆที่พระองค์เกิดมาเป็นลูกกษัตริย์ พระองค์ไม่เคยตกระกำลำบากและลงมือทำเองให้เหนื่อยเช่นนี้มาก่อนเลย เช่น ทั้งดำนา เลี้ยงโคกระบือ เกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นต้น จนยายบัวครบกำหนดคลอด จึงได้ไปตามหมอตำแยมาทำคลอด (หมู่บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่าบ้านตำแยในปัจจุบันนี้) ทารกในครรภ์ของยายบัวก็คลอดออกมาเป็นทารกเพศหญิงตรงตามคำทำนายของโหร ยายบัวตั้งชื่อให้ว่า อรพิน แต่ในภาษาท้องถิ่นอีสานจะเรียกว่า อรพิมทารก หญิงนั้นมีหน้าตาน่ารัก สวยงาม และมีผิวพรรณผ่องใส เป็นที่พอใจแก่ท้าวปาจิตยิ่งนัก ท้าวปาจิตต้องทำงานหนักและช่วยดูแลตลอดจนอบรมสั่งสอนนางตั้งแต่เป็นเด็กจน กระทั่งโตเป็นสาวแสนสวยโสภายิ่งนัก ครั้นนางเจริญวัยเป็นสาวสวยก็ได้ผูกสมัครรักใคร่กับท้าวปาจิตเช่นเดียวกัน
            จน ในวันหนึ่งท้าวปาจิตได้บอกถึงฐานะและตัวตนของพระองค์ให้นางทราบ และขออนุญาตนางบัว นายมี และนางอรพิมว่าตนจะกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของตน เพื่อยกขันหมากจากพระนครธมมารับนางอรพิมไปอภิเษกสมรสตามราชประเพณีที่พระนคร ธมต่อไป
            เมื่อ มาถึงนครธม ท้าวปาจิตได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระเจ้าอุทุมราชพระราชบิดาและพระราช มารดา พระองค์จึงให้จัดขบวนขันหมากอย่างดีและมีจำนวนรี้พลมากมาย เดินทางไปเมืองพิมาย โดยที่หารู้ไม่ว่า บัดนี้ได้เกิดเหตุร้ายขึ้นกับนางอรพิม นั่นคือ พระเจ้าพรหมทัตกษัตริย์ผู้ครองเมืองพิมายได้ทราบข่าวความงามของนาง จึงได้ให้ พระยารามและเหล่าทหารไปนำตัวนางมาไว้ในพระราชวัง นางอรพิมสุดที่จะขัดขืนได้จำต้องมา แต่นางได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้ามิใช่ท้าวปาจิตแล้ว ผู้ใดแตะต้องตัวนางก็ขอให้กายนางร้อนเหมือนไฟ ดังนั้นพระเจ้าพรหมทัตจึงแตะต้องตัวนางมิได้ โดยพระเจ้าพรหมทัตพยายามเอาอกเอาใจต่างๆนาๆ และจะพยายามเข้าใกล้นางอรพิม แต่เมื่อเข้าใกล้ตัวนางเมื่อใหรก็รู้สึกร้อนเป็นไฟ จึงได้ถามนางอรพิม นางได้กราบทูลว่าให้รอพี่ชายมาก่อน
      กระบวน ขันหมากของท้าวปาจิตยกออกจากนครธมมาหลายคืนหลายวัน จนมาถึงลำน้ำแห่งหนึ่ง (อยู่ในตำบลงิ้ว ปัจจุบันนี้) ท้าวปาจิตให้ทหารหยุดกระบวนขันหมากเพื่อให้ทหารและสัตว์พาหนะได้พักและ บริโภคน้ำ ชาวบ้านเห็นผู้คนมากันมากมายจึงเข้ามาไต่ถามว่า มาทำไมและจะไปไหน พวกทหารตอบว่าจะไปบ้านสำริด เพราะพระโอรสกษัตริย์แห่งเมืองขอมจะแต่งงานกับสาวบ้านนี้ ชาวบ้านจึงถามชื่อหญิงคนนั้น ทหารบอกว่าชื่อนางอรพิม ชาวบ้านจึงเล่าให้ฟังว่า พระเจ้าพรหมทัตได้นำตัวนางเข้าไปไว้ในปราสาทเมืองพิมายเสียแล้ว
ซึ่ง ทั้งพระเจ้าอุทุมราชและท้าวปาจิตทรงตกพระทัยเป็นยิ่งนัก โดยเฉพาะท้าวปาจิตโกรธมากถึงกับโยนทรัพย์สินเงินทองข้าวของเครื่องใช้และขัน หมากทิ้งลงแม่น้ำหมด (ที่ตรงนั้นเรียกว่า ลำมาศหรือ ลำปลายมาศที่ ไหลไปสู่ลำน้ำมูลจนทุกวันนี้) ส่วนรถทรงก็ตีล้อดุมรถและกงรถจนหักทำลายหมด ชาวบ้านนำมากองรวมกันไว้จนที่เรียกว่า บ้านกงรถ เมื่อพระทัยเย็นลงแล้วท้าวปาจิตก็ได้ขออนุญาตพระบิดาไปตามนางกลับคืนมาตาม ลำพังด้วยพระองค์เอง ดังนั้นพระเจ้าอุทุมราชและข้าทหารทั้งหลายจึงเดินทางกลับนครธมไปก่อน ส่วนท้าวปาจิตรีบไปพบยายบัวและนายมี แล้วปลอบโยนทังคู่ว่าพระองค์จะใช้สติปัญญานำนางอรพิมออกมาให้ได้อย่าง ปลอดภัย และได้มอบทรัพย์จำนวนหนึ่งและม้าให้นางบัวและนายมีหลบไปอยู่ที่อื่นสักพัก หนึ่งก่อนเพื่อความปลอดภัย แล้วพระองค์ก็ปลอมตัวเป็นลูกชายยายบัวเข้าไปตามหาน้องสาวชื่อ อรพิม โดยได้ไปบอกนายประตูเมืองพิมายว่าจะขอเข้าไปเยี่ยมน้องสาว นายประตูถามว่าจะพบใคร ท้าวปาจิตตอบว่า นางอรพิม ซึ่งจะเป็นพระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตในไม่ช้านี้ นายประตูจึงพาไปพบนางอรพิม
ครั้นเมื่อนางพบหน้าท้าวปาจิตนางก็ตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก จนนางร้องออกมาว่า อ้อ! พี่มา!...๓ ครั้ง (คำนี้เพี้ยนเป็น พิมายอัน เป็นชื่อเมืองหรืออำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราชของประเทศไทยของเราในปัจจุบันนี้นั้นเอง) พระเจ้าพรหมทัตเสด็จมาหานางอรพิม และได้มาพบเห็นท้าวปาจิตอยู่กับนางอรพิม จึงถามว่าเป็นใคร? นางตอบว่าเป็นพี่ชายของนางเอง พระเจ้าพรหมทัตถามว่าทำมาหากินอะไร? ทำไร่ทำนา หรือค้าขายอะไร? ท้าวปาจิตตอบว่าค้าขายทางไกล ทราบว่าน้องสาวจะอภิเษกสมรสเป็นพระมเหสีของพระองค์จึงมาอวยพรให้ และอยากรู้จักกับพระองค์และให้พระองค์รู้จักตนด้วย พระเจ้าพรหมทัตดีใจอย่างมาก เพราะนางอรพิมจะได้ยอมเป็นพระมเหสีอย่างที่เคยลั่นวาจาไว้เสียที จึงสั่งให้หาเหล้ายาอาหารมาเลี้ยงดูท้าวปาจิตอย่างดี ท้าวปาจิตจึงดื่มเพียงเล็กน้อย แต่พระเจ้าพรหมทัตถูกนางอรพิมมอมเหล้าเสียจนเมามายจนเสียสติจนถึงขั้นลวนลาม นางอรพิมต่อหน้าต่อตาท้าวปาจิต ท้าวปาจิตจึงใช้พระขรรค์ฟันคอพระเจ้าพรหมทัตขาดสิ้นพระชนม์อยู่ ณ ที่นั้น แล้วจึงอุ้มนางอรพิมหนีออกมาทางประตูลับ

            ท้าว ปาจิตและนางอรพิมบุกป่าฝ่าดงอย่างทุลักทุเลและยากลำบากจนเดินทางมาถึงป่า ใหญ่แห่งหนึ่ง พอดีเป็นเวลารุ่งสว่างได้พบนายพรานคนหนึ่งชื่อ พรานนกเอี้ยง ซึ่งออกมาเที่ยวล่าเนื้ออยู่ พรานนกเอี้ยงเห็นนางอรพิมสวยงามมากก็นึกรักนาง จึงใช้หน้าไม้ยิงท้าวปาจิตถึงแก่ตายแล้วก็ฉุดพานางไป นางจึงทำเล่ห์กลว่ามีกำลังน้อยเดินทางมาเหน็ดเหนื่อยมากจะเดินทางไปไม่ไหว ถ้ามีรถหรือเกวียนหรือช้างม้าให้นางนั่งไปนางก็ยินดีจะไปด้วย พรานหลงเชื่อจึงไปหากระบือมาให้นางขี่ ตัวนายพรานจึงนั่งข้างหน้าคอยบังคับกระบือ ส่วนนางอรพิมนั่งข้างหลังพอได้โอกาสนางก็ใช้พระขรรค์ของท้าวปาจิตแทงนายพราน ตาย แล้วนางจึงรีบกลับมาที่ศพของท้าวปาจิต นางร่ำไห้คร่ำครวญอย่างน่าสมเพชทุกขเวทนายิ่งนัก จน พระอินทร์เกิดความสงสารจึงได้ชวนเอา พระเวสสุกรรมแปลงกายเป็น งูกับ พังพอนสู้ กันให้นางได้เห็น เมื่อพังพอนตาย งูก็ไปกัดเปลือกไม้ชนิดหนึ่งมาเคี้ยวแล้วพ่นใส่บาดแผลพังพอน พังพอนจึงฟื้นขึ้นมาแล้วก็ต่อสู้กันต่อไป ครั้นงูตายพังพอนก็ทำเช่นเดียวกัน สัตว์ทั้งสองผลัดกันตายผลัดกันฟื้นเช่นนี้เป็นเวลาพอสมควรแล้วหายไป นางอรพิมซึ่งเฝ้าสังเกตอยู่ เห็นหนทางที่จะทำให้ท้าวปาจิตฟื้นจึงไปเอาเปลือกไม้นั้นมาเคี้ยวพ่นใส่บาด แผลท้าวปาจิตเช่นกัน ท้าวปาจิตจึงฟื้นขึ้นมาได้อีก แล้วทั้งคู่ก็ได้ช่วยกันเก็บเปลือกไม้นั้นติดตัวไปเท่าที่จะนำไปได้แล้วออก เดินทางต่อไปยังนครธม

            หลัง จากรอนแรมกันมาเป็นเวลาพอประมาณ ก็มาถึงฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่งซึ่งกว้างใหญ่มากไม่มีเรือแพหรือขอนไม้จะข้ามไป ยังฝั่งตรงข้ามได้ จึงนั่งปรึกษาหาหนทางอยู่ ขณะนั้นมีเถรคนหนึ่งซึ่งชาวบ้านเรียก เถรเรือลอยเพราะ เถรลงเรือไปบิณฑบาตตามแม่น้ำเป็นประจำ เถรพายเรือผ่านมา ท้าวปาจิตขอร้องให้ช่วยส่งข้ามฟากให้ด้วย เถรเห็นนางอรพิมสวยงามมากก็คิดจะพานางไปกับตน จึงบอกว่าเรือลำนี้ขึ้นได้ครั้งละ ๒ คนเท่านั้นมิฉะนั้นเรือจะล่ม ท้าวปาจิตจำต้องให้นางอรพิมไปกับเถรก่อน เถรเจ้าเล่ห์พานางลอยน้ำไปเรื่อย ๆ ท้าวปาจิตจะเรียกอย่างไรก็มิได้หยุด จึงต้องพลัดพรากกันอีกครั้งหนึ่ง นางอรพิมจำต้องคิดอุบายหนีจากเถรให้ได้ จนกระทั่งมาพบต้นมะเดื่อต้นหนึ่งซึ่งสูงมากและมีลูกดกเต็มต้นและมีผลงาม ๆ น่ากินทั้งนั้น นางบอกเถรว่าอยากกินมะเดื่อ ให้เถรปีนขึ้นไปเก็บมาให้เลือกเอาลูกที่งามที่สุดอร่อยที่สุดสุกที่สุดซึ่ง จะอยู่บนยอดสูงๆ เถรหลงเชื่อปีนต้นไม้ไปหาลูกมะเดื่อที่นางต้องการ นางจึงรีบเอาหนามมากองสุมไว้โคนต้นมะเดื่อนั้นเพื่อไม่ให้เถรสามารถลงมาได้ นั้นเอง แล้วนางก็รีบลงเรือพายหนีไปตามหาท้าวปาจิต ก่อนไปนางได้สั่งไว้เป็นวาจาสิทธิ์ว่าให้เถรอยู่บนต้นมะเดื่ออย่าไปไหน เถรจึงตายอยู่บนต้นมะเดื่อนั่นเอง ก่อนเถรตายได้แช่งให้มีแมลงหวี่มาเกิดในลูกมะเดื่อทุกลูกไป (จึงปรากฏว่าว่าลูกมะเดื่อมีแมลงหวี่อยู่จนทุกวันนี้)

            นาง อรพิมพายเรือกลับมาหาท้าวปาจิตแต่ไม่พบ จึงจอดเรือแล้วขึ้นฝั่งเที่ยวตามหาท้าวปาจิตตามสถานที่ต่างๆ อย่างยากลำบากและตัวคนเดียว จนพระอินทร์เกิดความสงสารจึงลงมาประทานแหวนให้วงหนึ่ง พร้อมกับบอกนางว่า ถ้าสวมไว้ที่นิ้วชี้จะกลายร่างเป็นชายแต่ถ้าถอดออกสวมนิ้วอื่นจะกลายเป็น หญิงดังเดิม นางอรพิมดีใจมาก จึงได้ควักนมทั้งสองข้างออกมาแล้วปาเข้าป่ากลายเป็นต้น "นมนาง" จากนั้นนางจึงจิกแก้มอันอวบอิ่มจิ้มลิ้มเป็นพวงแล้วเหวี่ยงทิ้งไปกลายเป็น ต้น "แก้มอ้น" และควักโยนีขึ้นปาเข้าป่ากลายเป็นต้น "โยนีปีศาจ" นางจึงสวมแหวนที่นิ้วชี้จึงกลายร่างเป็นชายแล้วเดินติดตามท้าวปาจิตต่อไป พบใครที่ไหนก็สอบถามว่าเห็นใครรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ไหม? รู้จักคนชื่อท้าวปาจิตไหม? สอบถามจนทั่วแล้วก็ไม่มีผู้ใดรู้จักหรือเห็นเลย นางจึงร่อนเร่ไปโดยอยู่ในเพศชายตามลำพัง
จนกระทั่งมาถึงเมืองหนึ่ง ชื่อ เมืองครุฑราชซึ่งมีลูกสาวชื่อ แตงโมเป็น หญิงสาวสวยงามและนิสัยดีของเศรษฐีคนหนึ่งพึ่งจะเสียชีวิตลง รักษาอย่างไรก็ไม่หายนางจึงขออาสารักษาและก็สามารถทำให้นางฟื้นขึ้นมาได้ เศรษฐีและภรรยาดีใจมาก จะยกสมบัติและให้แต่งงานกับลูกสาวของตน แต่นางอรพิมไม่ยอมขอเดินทางตามหาญาติต่อไปซึ่งลูกสาวเศรษฐีก็ขอติดตามไปด้วย จนกระทั่งมาถึง เมืองจัมปากนครโดยที่เมืองจัมปากนครที่นางอรพิมมาถึงนี้ พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองเมืองมีพระราชธิดาสวยงามมากชื่อ ปทุมวดีแต่ ไม่ทราบว่าเป็นอะไรตาย หมอคนใดก็ช่วยไว้ไม่ได้ ชาวเมืองพากันร้องไห้อาลัยรักนางอยู่ นางอรพิมรู้เข้าก็อยากจะลองช่วยนางดู จึงให้คนพาไปเฝ้าพระมหากษัตริย์ทูลขออนุญาตรักษา เมื่อพระองค์อนุญาตนางอรพิมได้ใช้เปลือกไม้ที่ได้จากป่าคราวรักษาท้าวปาจิต มาเคี้ยวพ่นใส่พระราชธิดาจนฟื้นขึ้น พระมหากษัตริย์และพระญาติทั้งหลายดีใจมาก ปรึกษากันว่าจะให้นางอรพิมอภิเษกกับพระธิดา แต่นางอรพิมบ่ายเบี่ยงว่าขอเวลาสักปีหรือสองปีให้ได้บวชเรียนและศึกษา ศิลปศาสตร์ให้จบก่อน พระมหากษัตริย์จำต้องยอมตามใจนาง
นาง อรพิมจึงขอลาไปตามหาท้าวปาจิตด้วยความรู้สึกสิ้นหวังว่าคงจะไม่พบกันเป็นแน่ แล้ว นางได้ไปบวชเป็นพระอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย จนมีความรู้แตกฉานมาก พระในวัดและลูกศิษย์ตลอดจนชาวบ้านต่างก็ยกให้เป็นพระสังฆราช(น่าจะเป็น ตำแหน่งเจ้าอาวาสในปัจจุบัน) ซึ่งนางอรพิมได้ให้สร้างโบสถ์ขึ้นหลังหนึ่งแล้วเขียนภาพเล่าเรื่องของนางกับ ท้าวปาจิตที่ฝาผนังโบสถ์ไว้ เริ่มตั้งแต่แต่ท้าวปาจิตได้อาศัยอยู่กับยายบัวจนถึงตอนนางมาบวชอยู่ที่วัด นี้ ซึ่งแต่ละตอนละเอียดครบถ้วนกระบวนความ และนางยังสั่งไว้ว่า หากมีผู้ใดที่มาดูภาพเขียนฝาผนังแล้วร้องไห้ก็ให้คนเฝ้าโบสถ์รีบไปบอกให้ตน รู้ทันที
      วัน หนึ่งท้าวปาจิตเดินทางรอนแรมมาจนถึงเมืองนี้ ได้ขอเข้าพักอาศัยในโบสถ์แล้วนอนหลับไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย ครั้นตื่นขึ้นมาก็มองไปรอบ ๆ เห็นภาพเขียนบนฝาผนังโบสถ์ จึงได้ลุกขึ้นไปเดินดูโดยรอบ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องราวของตนกับนางอรพิม จึงทรุดลงร่ำไห้อยู่ตรงนั้น คนเฝ้าโบสถ์เห็นดังนั้นจึงรีบนำความไปเล่าให้พระสังฆราชรู้ พระสังฆราชจึงให้นำท้าวปาจิตไปพบ ท้าวปาจิตได้สอบถามความเป็นมาของรูปเขียน พระสังฆราชตื่นเต้นดีใจและมีความสุขมากแต่ข่มใจไว้ จึงได้เล่าความจริงให้ฟังและบอกว่าตนคือนางอรพิม จากนั้นก็ได้ถอดแหวนออกจากนิ้วชี้แล้วสวมที่นิ้วนางแทน แล้วก็กลายรูปเป็นหญิงตามเดิม ทั้งสองต่างโผเข้าสวมกอดกันร่ำไห้ด้วยความยินดีและตื้นตันใจเป็นที่สุด แล้วนางอรพิมก็บอกความจริงกับทุกคน และขอลาชาววัดและชาวบ้านเดินทางกลับพระนครธม ตลอดจนได้ขออนุญาตจากเจ้าเมืองจัมปากนครและเศรษฐีเมืองครุฑราชให้ยกลูกสาว ให้กับท้าวปาจิตแทน ซึ่งทุกคนต่างก็ตกลงและยินดียกให้เป็นมเหสีของท้าวปาจิตผู้ซึ่งเป็นองค์ รัชทายาทแห่งราชอาณาจักรขอมนครธมนั้นเอง เมื่อกลับถึงนครธมพระเจ้าอุทุมราชและพระราชมารดา ตลอดจนพระประยูรญาติและชาวพระนครทั้งหลายต่างปลื้มปิติและมีความยินดีเป็น อย่างมาก จึงจัดให้มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสให้กับท้าวปาจิตและพระมเหสีทั้งสาม หลังจากนั้นท้าวปาจิตและพระมเหสีทั้งสามก็ได้มาปกครองที่เมืองพิมายอันเป็น หัวเมืองประเทศราชของนครธมแทนพระเจ้าพรหมทัตที่พึ่งจะสิ้นพระชนม์ไป โดยพระองค์ได้จัดให้มีพิธีพระราชทานเพลิงและจัดให้สร้างปราสาทไว้เป็น อนุสรณ์แก่พระเจ้าพรหมทัตที่สวรรคตแล้วนั้นด้วย โดยพระองค์ได้ทำการปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรมและนำความร่มเย็นเป็นสุข ให้กับเมืองพิมายอยู่เป็นเวลาหลายปี
            ครั้น เมื่อพระเจ้าปทุมราชพระราชบิดาของพระองค์เสด็จสวรรคต พระองค์ก็ได้เสด็จกลับพระนครธมและได้รับการอภิเษกให้ขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรขอมแทน โดยพระองค์และพระมเหสีทั้งสามได้ทำการปกครองและทำนุบำรุงบ้านเมืองและ ประเทศราชทั้งหลายให้มีความร่มเย็นเป็นสุขและอยู่ดีกินดีกันโดยทั่วหน้าสืบ มาจนสิ้นอายุขัย
ที่มา : http://www.sujipuli.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539368380&Ntype=4

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

"หมาขี้เรื้อน ... เปลี่ยนหัวใจคนใจดำ"

เรื่องเล่า… มีอยู่ว่า พี่ชิต แกเป็นคนใจดำครับ ชอบยิงนกตกปลาไปเรื่อย แต่ที่หนัก ก็คงเป็นเนื้อหมา แกกินแหลกครับ แม่แกบอก มันบาปนะลูก พี่แก ก็ไม่เคยสนใจ คำเตือนของแม่เลย

เมื่อราว 15 ปีก่อน มีเหตุการณ์ ที่ทำให้แกเปลี่ยนไป… ครั้งนั้น มีแม่หมาขี้เรื้อน ตัวหนึ่งครับ มันมักวิ่งไปหาของกิน แถวๆ บ้านแกบ่อย เพราะบ้านแกติดตลาด



ผมเคยถามพี่ชิต ที่กินหมา อยู่บ่อยๆ ว่า ทำไมไม่กินหมาขี้เรื้อน แกบอก “กินไม่ลงว่ะ"

มีอยู่วันหนึ่ง เนื้อแห้งที่แกตากไว้ หายไป พอมองไป ก็เห็นแม่หมาขี้เรื้อนนั้น วิ่งคาบเนื้อตากแห้ง ของแกอยู่ ความแค้นใจ และการฆ่า ที่อยู่ในสันดาน

พี่ชิตคว้าไม้ ที่ใช้ตีหมาได้ ก็วิ่งตามไป อย่างรวดเร็ว พอตามทัน แกก็ทุบไปทีเดียว หมาขี้เรื้อนนั่น ล้มลงชักทันที (แกบอกว่า หากตีตรงจุด แค่ไม้เล็กๆ ธรรมดา ก็ตายได้ นี่คือคน ตีหมาจนชำนาญ)

พี่ชิตทิ้งซากหมา กองไว้อยู่ตรงนั้น โดยไม่ต้องเหลียวหน้าไปดูอีก เพราะตีมาเป็นร้อย ก็ไม่มีทางฟื้น และวันนี้ ด้วยความโมโห พี่ชิตจะกินหมาขี้เรื้อนตัวนี้ ที่ดันมากินเนื้อตากแห้ง และมาหยาม ถึงถิ่นของแก

พี่ชิตเดินกลับไปที่บ้าน เพื่อเตรียมอุปกรณ์ ในการแล่เนื้อ พร้อมกับสั่งให้ผม เฝ้าซากหมาขี้เรื้อนตัวนี้เอาไว้ แต่ผมก็มัวแต่เก็บตะขบ จนลืมดู

พอพี่ชิตมาถึง ก็โวยวายกับผมว่า ซากหมาหายไปไหน พร้อมกับวิ่งตาม รอยเลือด หมาขี้เรื้อนตัวนี้ พร้อมกับบ่นว่า... “ทำไมมันไม่ตายวะ”

สักพักหนึ่ง แกก็ได้ยินเสียงหมาเห่า แกก็ตามเสียงไปทันที
พอไปถึง ภาพที่เห็นคือ หมาขี้เรื้อน กำลังจะตาย มันมีลูก ที่ต้องเลี้ยง 5 ตัวครับ วัยกำลังกินนมอยู่

บางตัวก็วิ่งไปคาบเนื้อ ที่แม่หมาขี้เรื้อน คาบไปฝาก (เห็นกับตา) แม่หมาขี้เรื้อนตัวนี้ มันตายแล้วฟื้น คงไม่ใช่ แต่ที่มัน ยังไม่ยอมตาย ก็เพราะจิตใจอันเข้มแข็ง ของมัน ที่ปลุกเร้าเยื่อใย ที่คงเหลือ อย่างเหนียวแน่นว่า… ต้องกลับไปให้ได้ เพื่อให้ลูกมันกินนมครับ

การตีของพี่ชิตนั้น กระทบกระเทือน ถึงหัวสมองแตก เลือดสาดเป็นลิ่มๆ แต่มันก็ยัง ลากตัวมันเอง กระเสือกกระสน ล้มลุกคลุกคลาน เพื่อกลับมาหาลูกของมันจนได

และสิ่งที่เห็นคือ... การกระทำที่ยิ่งใหญ่ ของความเป็นแม่ ที่รักลูกมากเป็นที่สุด โดยไม่ห่วงตัวจะตาย นี่จิตใจอันยิ่งใหญ่ของแม่ ที่ไม่ว่าสัตว์ หรือคน ก็มีจิตใจเช่นนี้ แม้มันจะตาย ก็ขอให้ลูกพวกมัน ได้อิ่มซักมื้อ

แม่หมาพยายาม อย่างดีที่สุดแล้วครับ ผมไม่อยากจะเชื่อ... นั่นคือ น้ำตา ของแม่หมาขี้เรื้อนตัวนั้น มันมองผมกับพี่ชิต เหมือนขอร้อง เป็นครั้งสุดท้าย ที่มันต้องการให้นมลูก ก่อนตาย

สายตาของมันเศร้ามาก มันมองผมกับพี่ชิต อย่างวิงวอนทางสายตา ที่ขอร้องของมัน เพื่อขอให้มัน ได้ให้นมลูกของมัน เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะตาย

พี่ชิต ไม้หล่นลงกับพื้น เดินเข้าไปดู แม่หมาขี้เรื้อนตัวนั้น ในยามนั้น... สิ่งที่แกเห็น ไม่ใช่หมาขี้เรื้อน แต่แกเห็นจิตใจ แห่งความเป็นแม่ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งทนเจ็บปางตาย เพื่อกลับไปหาลูกให้ได้

ไม่พูดอะไร... ทุกอย่างจุกอยู่ที่ลำคอ... สายตาพี่ชิต ที่แข็งกร้าว กลับอ่อนโยนลง พร้อมกับมีลูกหมาตัวหนึ่ง วิ่งไปหาแก กระดิกหางให้ แกอุ้มลูกหมาขึ้น พร้อมมองไปที่ สายตา ของแม่หมาขี้เรื้อนนั้น อย่างสำนึกผิด และพูดคำว่า "ขอโทษ” พูดได้แค่นั้น แม่หมาก็สิ้นใจตาย อย่างตาหลับ

ผมกับพี่ชิต ช่วยกันฝังแม่หมาตัวนี้... พร้อมๆ กับจิตสำนึก ที่เกิดใหม่ ของพี่ชิต ที่เปลี่ยนไป ราวกับคนละคน แกรับเลี้ยง ลูกหมานั้นไว้ ทั้ง 5 ตัว และตั้งแต่นั้น แกกลายเป็นคนใจดี ไม่ไล่ยิงนก ยิงหมา ยิงแมวอีก แกบอกว่า... "มันอาจจะมี ลูกรออยู่ก็ได้”

วันเกิดของแม่ ปีที่แล้ว แกเอามะลิ ร้อยเป็นพวง ไปให้แม่ ทั้งๆ ที่ ไม่เคยทำมาก่อน พี่ชิตกราบแม่ พร้อมพูดกับแม่ว่า "แม่ครับ... ตอนผมอายุ 16 แม่สอนผม ยังไงนะ สอนอีกหน ได้ไหมครับ" แม่แกน้ำตาคลอ พูดไม่ออก

_____________________

เค้ามีชีวิต เหมือนที่คุณมี
เค้ามีหัวใจ เหมือนที่คุณมี
เค้ามีความรัก เหมือนที่คุณมี
ใครซักคนพูดไว้ว่า...
หากคุณลองเลี้ยงสุนัขซักตัวด้วยรัก แล้วคุณจะรู้ว่า "รักแท้" เป็นเช่นไร

สุนทรียสนทนา



สุนทรียสนทนา
          Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา หมายถึง การสื่อสารภายในองค์กรที่มีลักษณะของการเปิดประเด็นสนทนาโดยกลุ่มคน เกิดเป็นวงสนทนาที่กำหนดกฎ กติกา มารยาทในการสนทนาไว้ เพื่อสร้างกระบวนการคิดร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีบทสรุป เหมาะสำหรับการพัฒนากระบวนการคิด เพื่อสร้างความเข้าใจในระดับที่หยั่งลึก ทำให้มีการไหลของความหมายที่เรียกว่า Meaning Flow ตกผลึกจนเกิดเป็นชุดความรู้ใหม่ในตัวคนหรือกลุ่มคนที่ลุ่มลึกกว่าชุดความรู้ เดิมที่เคยมี  ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า Dialogue คือ  เครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนาองค์กรในระยะยาว   ดังนั้น จึงไม่ควรเริ่มต้นด้วยการหวังผลในระยะสั้น เพราะผลผลิตของสุนทรียสนทนาจะค่อยๆปรากฏชัดขึ้นๆ จนกลายเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน   
องค์ประกอบสุนทรียสนทนา
          สุนทรียสนทนา เน้นการฟังมากกว่าพูด โดยอาจารย์มนต์ชัย  พินิจจิตรสมุทร วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่อง สุนทรียสนทนา กรุณาให้คำอธิบายว่า สุนทรียสนทนา ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ  ฟัง  ไตร่ตรอง   ซักถาม และนำเสนอความคิด ทั้งนี้ องค์ประกอบที่ต้องให้ความสำคัญและให้เวลามากที่สุด คือ ฟัง และต้องเป็นการฟังอย่างตั้งใจ ฟังให้ได้ยิน หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Deep Listening โดยเทคนิคของการฟังแบบนี้ต้องมีสมาธิตลอดระยะเวลาที่ฟัง วางชุดความรู้ของตัวเองที่เคยมีเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังฟังลง เปิดใจฟังอย่างเต็มที่ ฟังแล้วคิด ไตร่ตรอง ซักถาม จนเต็มอิ่มและตกผลึกเป็นชุดความรู้ใหม่ ที่อาจารย์ใช้คำว่าReframe แล้ว จึงค่อยพูดให้คนอื่นฟัง ด้วยน้ำเสียงที่เรียบ แต่ทุกคำพูดเป็นคำพูดที่สร้างสรรค์ ไม่ขัดแย้งกับใคร ไม่สรุปว่า คำพูดของใครผิด ถูก ดี ไม่ดี  แต่สรุปด้วยเวลาที่ตกลงกันไว้ก่อนที่จะเริ่มวงสุนทรียสนทนาหากประเด็นใดยัง คงอยู่ในความสนใจ สามารถเปิดวงสุนทรียสนทนาใหม่ได้ ไม่จำกัดครั้ง
สุนทรียะสนทนากติกาพื้นฐานที่ต้องกำหนด
          หลักสำคัญของกระบวนการสุนทรียสนทนาที่ทุกคนควร/ต้องยึดถือร่วมกัน เป็นกติกาพื้นฐาน คือ
  • เปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเสนอความคิดโดยเท่าเทียมกัน ในลักษณะของการเปิดพื้นที่ให้มีอที่ว่าง สำหรับทุกคน
  • ไม่พูดนอกประเด็น พูดแทรกระหว่างคนอื่นพูดยังไม่จบ
  • ไม่ตัดสิน ไม่สรุป
  • ดำรงความเงียบไว้ได้ ตราบที่ทุกคนยังอยู่ในกระบวนการไตร่ตรอง  และให้เกียรติผู้พูด
หลักปฏิบัติ Dialogue
•         ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังให้ได้ยิน
•         มีความเป็นอิสระ และผ่อนคลาย
•         ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้นำ และไม่มีผู้ตาม



การจัดการวงสนทนาที่ดี
          การจัดการวงสนทนา ควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ภายใต้คำพูดสั้นๆว่า SPEAKING ดังนี้
1.S Setting หมายถึง ฉาก สถานที่ และเวลาของการทำ Dialogue ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ กล่าวคือ การจัดสถานที่ ควรจัดให้นั่งเป็นวงกลม ให้ทุกคนในวงสนทนาหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้สามารถมองเห็นหน้า ซึ่งกันและกันได้หมดทุกคน และให้มีพื้นที่ว่างพอที่ให้ทุกคนจะสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้สะดวก ถ้าหากมีทิวทัศน์ที่สวยงานที่เป็น ต้นทุน ทางธรรมชาติที่ดีอยู่แล้ว ควรใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด โดยเปิดม่านเพื่อให้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ และปลดปล่อยอารมณ์และเป็นที่พักสายตา
2.P Process หมายถึง กระบวนการ Dialogue เป็นเรื่องของกระบวนการ (Process Determinism) ซึ่งเป็นไปตามเหตุและปัจจัยไม่สามารถคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ ผู้เข้าร่วมวงสนทนาต้องมีสติอยู่เสมอ สิ่งที่พูดไม่มีการสรุปหรือสร้างความคิดรวบยอด เพื่อหาคำตอบสุดท้าย และให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมด แต่ถ้าผู้เข้าร่วมวงเชื่อมั่นในเรื่องของกระบวนการ จะเห็นว่า คำตอบจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และเป็นหน้าที่ของผู้เข้าร่วมวงที่จะทำความรู้จักกับคำตอบนั้นด้วยตนเอง คำตอบบางอย่างรู้ได้เฉพาะตัว อธิบายให้ใครฟังไม่ได้
3.E Ends หมายถึง เป้าหมาย Dialogue ไม่อนุญาตให้แต่ละคนนำเป้าหมายส่วนตัว หรือวาระส่วนตัวเข้าไปใช้ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อการฟัง เรียนรู้ตนเอง และเรียนรู้ผู้อื่นเท่านั้น นอกจากนี้จะต้องหลีกเลี่ยงมิให้มีการตั้งผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้า ไม่นำสิ่งที่เชื่ออยู่ในใจออกมาโต้แย้งประหัตประหารซึ่งกันและกัน Dialogue จึงเหมาะสมสำหรับเริ่มต้นทำงานที่มีความซับซ้อน หลากหลาย หรือต้องการแก้ไขปัญหาที่ยากร่วมกัน Dialogue จึงไม่มีการโอ้อวด ไม่แนะนำสั่งสอน หรือหวังจุดประกายให้คนอื่นคิดตาม รวมทั้งไม่โต้แย้ง หรือยกยอปอปั้น หรือตำหนิติเตียน
4.A Attitude หมายถึง การมีเจตคติที่ดีต่อคนอื่น มีจิตใจที่เปิดกว้าง มีความสุขที่ได้ยินได้ฟังและได้เรียนรู้จากผู้อื่น Dialogue คือชุมชนสัมมาทิฐิ ไม่เริ่มต้นด้วยการประณามคนอื่น การเสนอแนะให้คนอื่นทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือการพูดถึงปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การโต้เถียง การปกป้อง และการมุ่งเอาชนะกัน
5.K Key Actor หมายถึง คณะทำงานที่อยู่เบื้องหลัง ผู้ทำหน้าที่ประสานงาน สร้างฉาก และค้นหาผู้ที่เหมาะสมจะมานั่งพูดคุยกัน เพื่อวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะรวมความถึง Facilitator ผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามหลักการของกระบวนการ รวมทั้งแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที โดยสุภาพและไม่ทำให้ผู้ร่วมวงสนทนารู้สึกเสียหน้า
6.I Instrument หมายถึง เครื่องมือของ Dialogue คือ จะต้องช่วยลดทอนความเป็นทางการของการใช้ภาษาให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงถ้อยคำแบบพิธีการ เช่น ขออนุญาตพูด เพราะการพูดนี้ไม่ต้องขออนุญาตใคร หากผู้พูดคนก่อนพูดจบและมีความเงียบเกิดขึ้นก็สามารถแทรกตนเองขึ้นมาพูดได้ โดยอัตโนมัติ แต่สิ่งที่จะต้องระวังคือพูดสิ่งใดออกไป สิ่งนั้นจะย้อนกลับมาเข้าสู่ตนเอง ทำให้รู้สึกได้ภายหลัง
7.N Norms of Interaction หมายถึงบรรทัดฐาน ของการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งจะต้องมีความเท่าเทียมกัน ทั้งในแง่ของคำพูดและการปฏิบัติ กล่าวคือ จะต้องหลีกเลี่ยงคำพูดและการกระทำทางวาจาใดๆที่แสดงว่าตนเองเหนือกว่า หรือด้อยกว่าคนอื่น หรือที่แสดงความเหนือกว่าได้แก่ คำพูดแบบแนะนำ อบรม สั่งสอน โอ้อวด ยกตนข่มท่าน ส่วนคำพูดที่แสดงความด้อยกว่าคนอื่น เช่น คำพูดแบบวิงวอนร้องขอ คำแนะนำและความช่วยเหลือจากผู้อื่น
8.G Genre หมายถึง ประเภทของการพูดคุย Dialogue ไม่ใช่การพูดคุยแบบพิจารณาถกเถียงหรือโต้แย้ง ไม่ใช้การบรรยายไม่ใช่การประชุมที่มีประธานทำหน้าที่วินิจฉัย สั่งการ หรือมีเป้าหมายวาระไว้ล่วงหน้า แต่เป็นการพูดคุยแบบเปิด ไม่มีเป้าหมาย และวาระ เพื่อสร้างความหมายร่วมกัน แต่หากเป้าหมายจะเกิดขึ้นตามมาในภายหลังก็คงไม่มีใครห้าม แต่ต้องเกิดภายใต้บริบทของการสร้างความหมายร่วมกัน
การร่วมเรียนรู้จากวงสุนทรียสนทนาจะเกิดประโยชน์มาก เมื่อทุกคนภายในวงสนทนาเปิดใจและฟังอย่างมีสติและพูดแสดงความคิดเห็นอย่างจริงใจ

วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

เกิดมาทำไม?

การเริ่มต้นของชีวิตมีความไม่รู้(อวิชชา)เป็นเครื่องห่อหุ้ม การปลูกฝังค่านิยมจากบรรพบุรุษเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิต ค่านิยม และความเชื่อ บางกลุ่มคนให้ความสำคัญกับการกิน อยู่ หลับ นอน ดำรงเผ่าพันธุ์ ทรัพย์สิน อำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศเพียงเท่านั้น แต่มีคนอีกบางกลุ่มซึ่งไม่ได้มีแต่คุณ หรือ คนในปัจจุบันเท่านั้น คนในอดีตหลายต่อหลายรุ่นก็เช่นกัน ที่พยายามตั้งคำถามกับชีวิต ว่าความหมายของการมีชีวิตอยู่คืออะไร เกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน และจะพ้นจากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร เมื่อมีคำถามสำคัญเหล่านี้เกิดขึ้นจึงส่งผลให้มีนักแสวงหาพยายามศึกษาหาคำตอบของโจทย์สำคัญดังกล่าว โดยมีทั้งผู้ที่ค้นพบคำตอบทั้งที่เป็นความจริง(สัจธรรม)และคำตอบลวงที่เกิดจากความหลง(โมหะ)ของตนเอง ก่อให้เกิดศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ ค่านิยม ฯลฯ มากมาย การเดินทางไปสู่คำตอบที่สำคัญของชีวิต ล้วนมีแผนที่จากผู้เป็นครูอาจารย์(ทางจิตวิญญาณ)มีทั้งแบบอุกฤษฏ์ และแบบธรรมดา ที่ยังคงท้าทายให้นักเดินทางทุกรูปทุกนามเข้าแสวงหาคำตอบ โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าเป็นใคร สนใจหรือไม่ก็ตาม…

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557

คำอุทาน
     คำอุทาน  หมายถึงคำพวกหนึ่งที่เปล่งออกมา แต่ไม่มีความหมาย เป็นเพียงแสดงวามรู้สึก
อารมณ์   หรือความต้องการของผู้พูดให้ผู้ฟังทราบ  
     คำอุทานแบ่งออกเป็น  ๒  ประเภท  ดังนี้
 ๑. คำอุทานบอกอาการ  เป็นคำอุทานที่ผู้พูดเปล่งออกมาเพื่อบอกอาการ หรือความรู้สึก
ของผู้กล่าว  คำอุทานชนิดนี้แบ่งเป็นหลายพวก ตามอาการต่าง ๆ เช่น
       แสดงอาการร้องเรียก หรือบอกให้รู้ตัวได้แก่ เฮ้ย ! แนะ ! โว้ย ! เฮ้ ! นี่แนะ !
       แสดงอาการโกรธเคือง ได้แก่ ชิชะ !  ดูดู๋ !  อุเหม่ !
       แสดงอาการตกใจ  ได้แก่   เอ๊ะ ! คุณพระช่วย ! ตาย ! ตาเถน ! ว้าย ! โอ้ !
       แสดงอาการประหลาดใจได้แก่ แม่เจ้าโว้ย ! แหม ! อ๊ะ ! โอ ! โอโฮ้ ! ฮ้า !  ว้าว !
      แสดงอาการปลอบโยน  ได้แก่  พุทโธ่ !  โถ !  โธ่ !  อนิจจา !
      แสดงอาการเข้าใจหรือรับรู้ ได้แก่   อ้อ !   เออ !   อือ !
      แสดงอาการเยาะเย้ย ได้แก่  เชอะ !  เอ๊ว !  กิ๊วกิ๊ว !  กุ๋ยกุ๋ย !
      แสดงอาการดีใจ  ได้แก่  ไชโย !
 ๒. คำอุทานเสริมบท   คือคำอุทานที่ผู้พูดกล่าวเพิ่มเติมถ้อยคำ หรือเสริมขึ้น
เพื่อให้คล้องจอง เท่านั้น โดยไม่ต้องการเนื้อความ เช่น
  อาหงอาหาร   หนังสือหนังหา
  ล้างไม้ล้างมือ   ลืมหูลืมตา
  กินหยูกกินยา   เลขผานาที

 ข้อสังเกต

 ๑. คำอุทานบอกอาการ เวลาเขียนมักนิยมใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ ( ! ) กำกับไว้หลัง
         คำอุทานนั้น
 ๒. คำอุทานเสริมบทเป็นคำที่เติมเข้าไปเพียงต้องการให้คล้องจองกันเท่านั้น อาจไม่มี
         ความหมายก็ได้
หน้าที่ของคำอุทาน
      ๑. แสดงอารมณ์ผู้พูด  เช่น ชิชะ! บ๊ะ ! เหม่ !  โถ !  อนิจจา !  โอ !  แหม !  ฯลฯ
      ๒. ใช้เสริมท้ายคำอื่นเพื่อความไพเราะ เช่น เสื่อสาด  เสื้อแสง  ไม่กินไม่แกน ฯลฯ
           และยังใช้เป็นคำสร้อยของคำโคลง เช่น
           เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง อันใด   พี่เอย



ที่มา : http://www.sahavicha.com/?name=media&file=readmedia&id=1255

คำกริยา

คำกริยา หมายถึง คำแสดงอาการ การกระทำ ของนามหรือสรรพนาม เพื่อให้ได้ความเช่นคำว่า กิน เดิน นั่ง นอน เขียน เป็น คล้าย
ชนิดของคำกริยา
1. อกรรมกริยา
2. สกรรมกริยา
3. วิตรรถกริยา
4. กริยานุเคราะห์
5. กริยาสภาวมาลา

อกรรมกริยา คือ คำกริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับ ก็ได้ความสมบูรณ์เช่น เดิน บิน หาว
เช่น เขา “นอน”
นักเรียน “วิ่ง”
ดอกไม้ “บาน”
ตัวอย่างประโยคที่มี อกรรมกริยา เช่น ไก่ขัน
นกกาเหว่ามาร้องพน้าบ้านทุกเช้า
เรามาว่ายน้ำกันเถอะ
พี่เบิร์ดร้องเพลงเพราะที่สุด

สกรรมกริยา คือ คำกริยา ที่ต้องมีกรรมมารับ เพราะคำกริยานี้ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง
เช่น นงลักษณ์ “ล้าง” จานทุกวันที่ในครัว
ลำดวน “ขาย” ผักที่ตลาดท่าช้าง
หมอกิมรั้ง “ฉีดยา” ให้ฉันเมื่อวานนี้
ตัวอย่าง ฉันส่ง SMS ให้ลูกทุกคืนก่อนนอน
น้ารัตน์ชอบยิงนก
ทำไมแมวต้องกินหนูด้วยคะ
เขาดึงมือเธอไว้

วิตรรถกริยา เช่น นงลักษณ์ “เป็น” ครูโรงเรียนท่าช้างวิทยาคาร
“ใคร ๆ” ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าฉันเก่ง
ลูก “เหมือน” โซ่ทองคล้องใจพ่อกับแม่
ตัวอย่าง ฉันเป็นครู
เขาคือพ่อของวิศาล
โทรัยเป็นหมาแต่หน้าตาคล้ายลิง
ลูกเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่
นั่นเขา เรียนจบมาไม่นาน ได้ เป็นครูไปแล้ว
กระเป๋าใบนี้ คือ ของขวัญวันเกิด

กริยานุเคราะห์ คือ คำกริยาที่ทำหน้าที่ ช่วยคำกริยาสำคัญในประโยคให้มีความหมายชัดเจนขึ้น เช่น กำลัง เคย จะ ย่อม ได้แล้ว เช่น
เพชร “กำลัง” อ่านหนังสือ
พี่อุ้ม “ต้อง” ได้รางวัลชนะเลิศแน่เลย
พ่อ “เคย” พาพวกเราไปชุมพร  
ตัวอย่างประโยคที่ใช้ กริยานุเคราะห์ แม่บ้านจัดเครื่องดื่มเสร็จแล้ว

กริยาสภาวมาลา คือ คำกริยาที่ทำหน้าที่เป็นคำนาม จะเป็นประธาน กรรม หรือบทขยายของประโยคก็ได้
เช่น การบริจาคโลหิต เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง
นอนให้เพียงพอสุขภาพจะดี
กินยาตามที่หมอสั่ง ก็จะหายจากการป่วยเร็วขึ้น
กระโดดเชือก เป็นกีฬาที่สนุกมาก

ข้อสังเกต
คำกริยาบางคำ เป็นได้ทั้ง อกรรมกริยา
สหกรรมกริยา หรือ กริยานุเคราะห์ก็ได้
“เปิด” – หน้าต่างบานนี้เปิดอยู่ตั้งแต่เมื่อคืนนี้ (อกรรมกริยา)
- ภารโรงเป็นคนเปิดหน้าต่าง (สหกรรมกริยา)
“ให้”  - ผู้อำนวยการมอบหมายให้ครูวิชัยดูแลนักเรียนพิการ (กริยานุเคราะห์)
- เขาให้ตุ๊กตาเป็นของขวัญวันเกิดฉัน (สหกรรมกริยา)