วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

สุนทรียสนทนา



สุนทรียสนทนา
          Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา หมายถึง การสื่อสารภายในองค์กรที่มีลักษณะของการเปิดประเด็นสนทนาโดยกลุ่มคน เกิดเป็นวงสนทนาที่กำหนดกฎ กติกา มารยาทในการสนทนาไว้ เพื่อสร้างกระบวนการคิดร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีบทสรุป เหมาะสำหรับการพัฒนากระบวนการคิด เพื่อสร้างความเข้าใจในระดับที่หยั่งลึก ทำให้มีการไหลของความหมายที่เรียกว่า Meaning Flow ตกผลึกจนเกิดเป็นชุดความรู้ใหม่ในตัวคนหรือกลุ่มคนที่ลุ่มลึกกว่าชุดความรู้ เดิมที่เคยมี  ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า Dialogue คือ  เครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนาองค์กรในระยะยาว   ดังนั้น จึงไม่ควรเริ่มต้นด้วยการหวังผลในระยะสั้น เพราะผลผลิตของสุนทรียสนทนาจะค่อยๆปรากฏชัดขึ้นๆ จนกลายเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน   
องค์ประกอบสุนทรียสนทนา
          สุนทรียสนทนา เน้นการฟังมากกว่าพูด โดยอาจารย์มนต์ชัย  พินิจจิตรสมุทร วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่อง สุนทรียสนทนา กรุณาให้คำอธิบายว่า สุนทรียสนทนา ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ  ฟัง  ไตร่ตรอง   ซักถาม และนำเสนอความคิด ทั้งนี้ องค์ประกอบที่ต้องให้ความสำคัญและให้เวลามากที่สุด คือ ฟัง และต้องเป็นการฟังอย่างตั้งใจ ฟังให้ได้ยิน หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Deep Listening โดยเทคนิคของการฟังแบบนี้ต้องมีสมาธิตลอดระยะเวลาที่ฟัง วางชุดความรู้ของตัวเองที่เคยมีเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังฟังลง เปิดใจฟังอย่างเต็มที่ ฟังแล้วคิด ไตร่ตรอง ซักถาม จนเต็มอิ่มและตกผลึกเป็นชุดความรู้ใหม่ ที่อาจารย์ใช้คำว่าReframe แล้ว จึงค่อยพูดให้คนอื่นฟัง ด้วยน้ำเสียงที่เรียบ แต่ทุกคำพูดเป็นคำพูดที่สร้างสรรค์ ไม่ขัดแย้งกับใคร ไม่สรุปว่า คำพูดของใครผิด ถูก ดี ไม่ดี  แต่สรุปด้วยเวลาที่ตกลงกันไว้ก่อนที่จะเริ่มวงสุนทรียสนทนาหากประเด็นใดยัง คงอยู่ในความสนใจ สามารถเปิดวงสุนทรียสนทนาใหม่ได้ ไม่จำกัดครั้ง
สุนทรียะสนทนากติกาพื้นฐานที่ต้องกำหนด
          หลักสำคัญของกระบวนการสุนทรียสนทนาที่ทุกคนควร/ต้องยึดถือร่วมกัน เป็นกติกาพื้นฐาน คือ
  • เปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเสนอความคิดโดยเท่าเทียมกัน ในลักษณะของการเปิดพื้นที่ให้มีอที่ว่าง สำหรับทุกคน
  • ไม่พูดนอกประเด็น พูดแทรกระหว่างคนอื่นพูดยังไม่จบ
  • ไม่ตัดสิน ไม่สรุป
  • ดำรงความเงียบไว้ได้ ตราบที่ทุกคนยังอยู่ในกระบวนการไตร่ตรอง  และให้เกียรติผู้พูด
หลักปฏิบัติ Dialogue
•         ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังให้ได้ยิน
•         มีความเป็นอิสระ และผ่อนคลาย
•         ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้นำ และไม่มีผู้ตาม



การจัดการวงสนทนาที่ดี
          การจัดการวงสนทนา ควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ภายใต้คำพูดสั้นๆว่า SPEAKING ดังนี้
1.S Setting หมายถึง ฉาก สถานที่ และเวลาของการทำ Dialogue ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ กล่าวคือ การจัดสถานที่ ควรจัดให้นั่งเป็นวงกลม ให้ทุกคนในวงสนทนาหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้สามารถมองเห็นหน้า ซึ่งกันและกันได้หมดทุกคน และให้มีพื้นที่ว่างพอที่ให้ทุกคนจะสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้สะดวก ถ้าหากมีทิวทัศน์ที่สวยงานที่เป็น ต้นทุน ทางธรรมชาติที่ดีอยู่แล้ว ควรใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด โดยเปิดม่านเพื่อให้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ และปลดปล่อยอารมณ์และเป็นที่พักสายตา
2.P Process หมายถึง กระบวนการ Dialogue เป็นเรื่องของกระบวนการ (Process Determinism) ซึ่งเป็นไปตามเหตุและปัจจัยไม่สามารถคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ ผู้เข้าร่วมวงสนทนาต้องมีสติอยู่เสมอ สิ่งที่พูดไม่มีการสรุปหรือสร้างความคิดรวบยอด เพื่อหาคำตอบสุดท้าย และให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมด แต่ถ้าผู้เข้าร่วมวงเชื่อมั่นในเรื่องของกระบวนการ จะเห็นว่า คำตอบจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และเป็นหน้าที่ของผู้เข้าร่วมวงที่จะทำความรู้จักกับคำตอบนั้นด้วยตนเอง คำตอบบางอย่างรู้ได้เฉพาะตัว อธิบายให้ใครฟังไม่ได้
3.E Ends หมายถึง เป้าหมาย Dialogue ไม่อนุญาตให้แต่ละคนนำเป้าหมายส่วนตัว หรือวาระส่วนตัวเข้าไปใช้ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อการฟัง เรียนรู้ตนเอง และเรียนรู้ผู้อื่นเท่านั้น นอกจากนี้จะต้องหลีกเลี่ยงมิให้มีการตั้งผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้า ไม่นำสิ่งที่เชื่ออยู่ในใจออกมาโต้แย้งประหัตประหารซึ่งกันและกัน Dialogue จึงเหมาะสมสำหรับเริ่มต้นทำงานที่มีความซับซ้อน หลากหลาย หรือต้องการแก้ไขปัญหาที่ยากร่วมกัน Dialogue จึงไม่มีการโอ้อวด ไม่แนะนำสั่งสอน หรือหวังจุดประกายให้คนอื่นคิดตาม รวมทั้งไม่โต้แย้ง หรือยกยอปอปั้น หรือตำหนิติเตียน
4.A Attitude หมายถึง การมีเจตคติที่ดีต่อคนอื่น มีจิตใจที่เปิดกว้าง มีความสุขที่ได้ยินได้ฟังและได้เรียนรู้จากผู้อื่น Dialogue คือชุมชนสัมมาทิฐิ ไม่เริ่มต้นด้วยการประณามคนอื่น การเสนอแนะให้คนอื่นทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือการพูดถึงปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การโต้เถียง การปกป้อง และการมุ่งเอาชนะกัน
5.K Key Actor หมายถึง คณะทำงานที่อยู่เบื้องหลัง ผู้ทำหน้าที่ประสานงาน สร้างฉาก และค้นหาผู้ที่เหมาะสมจะมานั่งพูดคุยกัน เพื่อวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะรวมความถึง Facilitator ผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามหลักการของกระบวนการ รวมทั้งแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที โดยสุภาพและไม่ทำให้ผู้ร่วมวงสนทนารู้สึกเสียหน้า
6.I Instrument หมายถึง เครื่องมือของ Dialogue คือ จะต้องช่วยลดทอนความเป็นทางการของการใช้ภาษาให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงถ้อยคำแบบพิธีการ เช่น ขออนุญาตพูด เพราะการพูดนี้ไม่ต้องขออนุญาตใคร หากผู้พูดคนก่อนพูดจบและมีความเงียบเกิดขึ้นก็สามารถแทรกตนเองขึ้นมาพูดได้ โดยอัตโนมัติ แต่สิ่งที่จะต้องระวังคือพูดสิ่งใดออกไป สิ่งนั้นจะย้อนกลับมาเข้าสู่ตนเอง ทำให้รู้สึกได้ภายหลัง
7.N Norms of Interaction หมายถึงบรรทัดฐาน ของการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งจะต้องมีความเท่าเทียมกัน ทั้งในแง่ของคำพูดและการปฏิบัติ กล่าวคือ จะต้องหลีกเลี่ยงคำพูดและการกระทำทางวาจาใดๆที่แสดงว่าตนเองเหนือกว่า หรือด้อยกว่าคนอื่น หรือที่แสดงความเหนือกว่าได้แก่ คำพูดแบบแนะนำ อบรม สั่งสอน โอ้อวด ยกตนข่มท่าน ส่วนคำพูดที่แสดงความด้อยกว่าคนอื่น เช่น คำพูดแบบวิงวอนร้องขอ คำแนะนำและความช่วยเหลือจากผู้อื่น
8.G Genre หมายถึง ประเภทของการพูดคุย Dialogue ไม่ใช่การพูดคุยแบบพิจารณาถกเถียงหรือโต้แย้ง ไม่ใช้การบรรยายไม่ใช่การประชุมที่มีประธานทำหน้าที่วินิจฉัย สั่งการ หรือมีเป้าหมายวาระไว้ล่วงหน้า แต่เป็นการพูดคุยแบบเปิด ไม่มีเป้าหมาย และวาระ เพื่อสร้างความหมายร่วมกัน แต่หากเป้าหมายจะเกิดขึ้นตามมาในภายหลังก็คงไม่มีใครห้าม แต่ต้องเกิดภายใต้บริบทของการสร้างความหมายร่วมกัน
การร่วมเรียนรู้จากวงสุนทรียสนทนาจะเกิดประโยชน์มาก เมื่อทุกคนภายในวงสนทนาเปิดใจและฟังอย่างมีสติและพูดแสดงความคิดเห็นอย่างจริงใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น