วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปิดไฟฟังนิทาน มนต์มายาหญิง





อสาตมันตชาดก มนต์มายาหญิง

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันปั่นป่วนเพราะหญิงรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...



กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสีมีพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ได้จุดไฟตั้งไว้ตั้งแต่วันลูกชายเกิดไม่ให้ดับเป็นเวลา ๑๖ ปีแล้ว วันหนึ่ง มารดาเรียกลูกชายมาบอกว่า

      " ลูกรัก แม่ได้จุดไฟตั้งไว้ในวันที่ลูกเกิดเรื่อยมา ถ้าหากเจ้าประสงค์จะไปพรหมโลก จงเข้าป่าบูชาพระอัคนิเทพเจ้าเถิด ถ้าอยากจะครองเรือน จงไปเรียนศิลปวิทยากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ เมืองตักกสิลาเถิด "



ลูกชายตัดสินใจเดินทางไปเรียนที่เมืองตักกสิลาจนสำเร็จแล้วกลับมาบ้าน ส่วนมารดาไม่อยากจะให้ลูกชายครองเรือน อยากจะแสดงโทษของสตรีหวังให้ลูกชายออกบวช จึงส่งลูกชายให้กลับไปเรียนอสาตมนต์ที่สำนักของอาจารย์ ณ เมืองตักกสิลาอีก



ที่สำนักเรียนเมืองตักกสิลา อาจารย์มีมารดาผู้แก่ชรามีอายุได้ ๑๒๐ ปีอยู่คนหนึ่ง ท่านจะเป็นผู้ปรนนิบัติมารดาด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ ป้อนข้าว ป้อนน้ำตลอดมา ผู้คนชาวเมืองจึงรังเกลียดท่าน ท่านจึงได้พามารดา เข้าไปอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง เมื่อเห็นลูกศิษย์กลับมาหาอีกครั้ง อาจารย์ทราบว่า ต้องการจะมาเรียนอสาตมนต์ จึงเข้าใจเจตนาของมารดาของเขา



ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา อาจารย์จึงมอบหน้าที่ปรนนิบัติมารดาผู้ชราให้แก่ลูกศิษย์ไป พร้อมกับสั่งสอนว่า

      " เจ้าจงอาบน้ำ ป้อนข้าว ป้อนน้ำ มารดาของเรา ปรนนิบัติด้วยการนวดมือ เท้า ศีรษะและหลังของท่าน พร้อมกับพูดยกย่องคำหวานเป็นต้นว่า คุณแม่ครับ ถึงจะแก่เฒ่าแล้ว ร่างกายของคุณแม่ยังดูกระชุ่มกระชวยอยู่เลย สมัยเป็นสาวคุณแม่คงจะสวยสะคราญหาที่เปรียบไม่ได้ ถ้าหากมารดาของเราพูดอะไรกับเจ้า ต้องบอกให้เราทราบทั้งหมดห้ามปิดบัง เจ้าทำเช่นนี้ถึงจะได้อสาตมนต์ "



เขาได้ปรนนิบัติมารดาของอาจารย์เช่นนั้นตลอดมา จนนางคิดว่าหนุ่มน้อยคนนี้คงต้องการอภิรมย์กับเราเป็นแน่นอน วันหนึ่งนางจึงถามชายหนุ่มว่า

      " เธอต้องการฉันใช่ไหม "



เขารับคำว่า

      " ครับ แต่ผมเกรงกลัวอาจารย์ "



นางพูดว่า

      " ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงฆ่าลูกฉันเสียสิ "

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt122.php


ปิดไฟฟังนิทาน ผู้มีบริวารมาก

วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปิดไฟฟังนิทาน สังข์ทอง




เนื้อเรื่องย่อสังข์ทอง


          กาลปางก่อน มีพระเจ้าพรหมทัต(ท้าวยศวิมล) ครองเมืองพรหมนคร(เมืองยศวิมล) พระเจ้าพรหมทัตมีมเหสีสององค์ มเหสีฝ่ายขวาชื่อพระนางจันทราเทวี (นางจันเทวี) มเหสีฝ่ายซ้ายชื่อพระนางสุวรรณจัมปากะ (นางจันทา) พระเจ้าพรหมทัตโปรดมเหสีฝ่ายซ้ายมาก ต่อมามเหสีทั้งสองทรงครรภ์ โหรทำนายว่าบุตร ของมเหสีฝ่ายขวาเป็นชาย ส่วนมเหสีฝ่ายซ้ายเป็นหญิง พระนางสุวรรณจัมปากะรู้สึกเสียใจที่จะได้ธิดาแทนจะเป็นโอรส และเกรงว่าพระนางจันทราเทวีจะได้ดีกว่า จึงใส่ร้ายพระนางจันทราเทวีจนพระเจ้าพรหมทัตหลงเชื่อ ขับไล่พระนางจันทราเทเวีออกจากพระราชวัง พระนางจันทราเทวเดินทางด้วยความยากลำบาก เมื่อถึงชายป่านอกเมือง ยายตาสองคนสงสารจึกชวนให้พักอยู่ด้วย โอรสในครรภ์ของพระนางจันทราเทวีเห็นความยากลำบากของพระมารดาจึงแปลงกายเป็นหอยสังข์เพื่อไม่ให้พระมารดาต้องลำบากเลี้ยงดู เมื่อครบกำหนดคลอด พระนางจันทราเทวีก็คลอดโอรสออกมาเป็นหอยสังข์ ซึ่งพระนางก็รักใคร่ เลี้ยงดูเหมือนลูกมนุษย์

วันหนึ่งพระนางจันทราเทวีออกจากบ้านไปช่วยตายายเก็บผักหักฟืน ลูกน้อยในหอยสังข์ก็ออกจากรูปหอยสังข์ช่วยปัดกวาดบ้านเรือน และหุงหาอาหารไว้ พอเสร็จก็กลับเข้าไปในรูปหอยสังข์ตามเดิม พระนางจันทราเทวีเมื่อกลับมาก็แปลกใจว่าใครมาช่วยทำงาน และเมื่อนางจันทราเทวีออกจากบ้านไป ลูกน้อยในหอยสังข์ก็จะออกมาทำงานบ้านให้เรียบร้อยทุกครั้ง พระนางจันทราเทวีอยากรู้ว่าเป็นใคร วันหนึ่งจึงทำทีออกจากบ้านไปป่าเช่นเคย แต่แล้วก็ย้อยกลับมาที่บ้าน โอรสในหอยสังข์ก็ออกมาทำงานบ้าน พระนางจันทราเทวีเห็นโอรสเป็นมนุษย์ก็ดีใจ จึงทุบหอยสังข์เสียและกอดโอรสด้วย ความยินดี และตั้งชื่อให้ว่า ” สังข์ทอง ”

เมื่อพระเจ้าพรหมทัตรู้ข่าวว่าพระนางจันทราเทวีประสูติพระโอรสก็ยินดีจะรับพระนางจันทราเทวีกลับ พระนางสุวรรณจัมปากะเทวีริษยาจึงได้เท็จทูลว่าพระโอรสเดิมเป็นหอยสังข์ พระเจ้าพรหมทัตก็หลงเชื่อเกรงจะเป็นกาลกิณีต่อบ้านเมือง จึงให้อำมาตย์จับพระนางจันทราเทวีและลูกน้อยสังข์ทองใส่แพลอยไป เมื่อแพลอนออกทะเลเกิดพายุใหญ่แพแตก พระนาจันทราเทวีถูกคลื่นซัดลอยไปติดที่ชายหาดเมืองมัทราษฎร์ พระนางก็เดินทาซัดเซพเนจรไปอาศัยบ้านเศรษฐีเมืองมัทราษฎร์ชื่อ ธนัญชัยเศรษฐี และทำหน้าที่เป็นแม่ครัว

ฝ่ายพระสังข์ทองนั้นจมน้ำลงไปยังนาคพิภพ พระยานาคมีจิตสงสารจึงเนรมิตเรือทอง แล้วอุ้มพระสังข์ทองใส่ไว้ในเรือ เรือทองลอยไปถึงเมืองยักษ์ซึ่งนางยักษ์พันธุรัตปกครองอยู่ นางยักษ์เห็นพระสังข์ทองในเรือทองเกิดความรักใคร่เอ็นดู จึงนำพระสังข์ทองมาเลี้ยงดูในปราสาท และให้พี่เลี้ยงนางนมแปลงร่างเป็นคนเพื่อมิให้พระสังข์ทองหวาดกลัว พระสังข์ทองก็เติบโตอยู่กับนางยักษ์พันธุรัต

นางยักษ์พันธุรัตปกติจะต้องออกไปหาสัตว์ป่ากินเป็นอาหาร เมื่อนางออกไปป่าก็จะไปครั้งละสามวันหรือเจ็ดวัน ทุกครั้งที่ไปก็จะสั่งพระสังข์ทองว่าอย่าขึ้นไปเล่นบนปราสาทชั้นบน และในสวน พระสังข์ทองก็เชื่อฟัง แต่เมื่อโตขึ้นก็เกิดความสงสัยอยากรู้ วันหนึ่งเมื่อนางยักษ์พันธุรัตไปป่า พระสังข์ทองก็แอบไปในสวนส่วนที่ห้ามไว้ เห็นกระดูกสัตว์และคนเป็นจำนวนมากที่นางยักษ์กินเนื้อแล้วทิ้งกระดูกไว้เป็นจำนวนมาก พระสังข์ทองเห็นเช่นนั้นก็ตกใจ นึกรู้ว่ามารดาเลี้ยงเป็นยักษ์ก็รู้สึกหวาดกลัว และเมื่อเดิต่อไปเห็นบ่อเงินบ่อทองสวยงามพอพระสังทองเอานิ้วก้อยจุ่มลงไปนิ้วก็กลายเป็นสีทอง พระสังข์ทองจึงลงไปอาบทั้งตัว ร่างกายก็กลายเป็นสีทองงดงาม แล้วพระสังข์ทองก็ขึ้นไปบนปราสาทชั้นบน เห็นเกราะรูปเงาะป่า เกือกทองและพระขรรค์ พระสังข์ทองเอาเกราะเงาะป่ามาสวมก็กลายร่างเป็นเงาะป่าพอใส่เกือกทองก็รู้สึกว่าลอยได้ พระสังข์ทองจึงหยิบพระขรรค์แล้วเหาะหนีออกจากเมืองยักษ์ และข้ามแม่น้ำไปยังเมืองตักศิลา ตกเย็นจึงพักอยู่ที่ศาลาริมน้ำ

ฝ่ายนางยักษ์กลับมาไม่เห็นลูก และขึ้นไปที่ปราสาทชั้นบนเห็นเกราะรูปเงาะป่า เกือกทองและพระขรรค์หายไป ก็รู้ทันทีว่าพระสังข์ทองรู้ว่าตนเป็นยักษ์แล้วหลบหนีไป นางจึงเหาะตามไป เมื่อถึงฝั่งน้ำเห็นพระสังข์ทองพักอยู่ นางไม่สามารถเหาะข้ามไปได้ จึงร้องไห้อ้อนวอนให้พระสังข์ทองกลับไป พระสังข์ทองยังหวาดกลัวจึงไม่ยอมกลับ นางพันธุรัตเสียใจจนหัวใจแตกสลาย แต่ก่อนตายนางก็สอนมนต์หาเนื้อหาปลาให้พระสังข์ทองแล้วนางก็สิ้นใจตาย พระสังข์ทองรู้สึกเสียใจมาก หลังจากได้จัดเผาศพนางยักษ์แล้ว พระสังข์ทองก็เหาะเดินทางไปเมืองพาราณสี และได้ไปอาศัชาวบ้านช่วยเลี้ยงโค พระสังข์ทองตอนนี้รูปร่างเป็นเงาะป่า พวกเด็กเลี้ยงโคก็มาเล่นสนิทสนมกับพระสังข์ทอง

ที่เมืองพาราณสีนี้เจ้าเมืองมีธิดา 7 องค์ เจ้าเมืองคิดจะให้พระธิดาทั้ง 7 องค์ได้อภิเษกสมรส จึงมีรับสั่งให้ประกาศแก่เจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ให้ส่งโอรสมาให้พระธิดาเลือก พระธิดาทั้ง 6 องค์ก็เลือกได้เจ้าชายทที่เหมาะสม แต่พระธิดาองค์สุดท้องชื่อรจนาไม่ยอมเลือกเจ้าชายองค์ใด เจ้าเมืองพาราณสีทรงกริ้วมากจึงประชดโดยให้อำมาตย์ไปประกาศให้ชายทุกคนในเมืองให้เข้ามาในวังให้พระราชธิดาเลือก พระสังข์ทองในรูปเงาะป่า ก็ถูกเกณฑ์เข้ามาด้วย เมื่อนางรจนาออกมาเลือกคู่ บุญบันดาลให้เห็นรูปทองของพระสังข์ทองแทนที่จะเป็นเงาะป่า นางจึงเลือกเงาะป่า เจ้าเมืองพาราณสีกริ้วมากขับไล่นางรจนาออกไปอยู่นอกเมือง

เจ้าเมืองพาราณสีมีความแค้นเคืองเงาะป่าคิดจะกำจัดจึงออกคำสั่งให้เขยทั้งหกและเงาะป่าไปหาเนื้อมาคนละตัว ใครหามาไม่ได้จะถูกประหารชีวิต เงาะป่าเข้าไปในป่าถอดรูปเงาะออกแล้วร่ายมนต์เรียกเนื้อ เนื้อทั้งหลายก็มาอออยู่ที่พระสังข์ทอง หกเขยหาเนื้อทั้งวันก็ไม่ได้จนกระทั่งมาพบพระสังข์ทอง ซึ่งหกเขยคิดว่าเป็นเทวดา หกเขยขอเนื้อจากพระสังข์ทอง พระสังข์ทองให้โดยขอตัดใบหูคนละหน่อย หกเขยก็ยอม ทั้งหมดก็นำเนื้อไปให้เจ้าเมืองพาราณสี

เจ้าเมืองพาราณสียังทำร้ายเงาะป่าไม่ได้ก็แค้นใจจึงมีคำสั่งให้เขยทุกคนหาปลาไปถวาย พระสังข์ทองก็ถอดรูปเงาะป่าแล้วร่ายมนต์เรียกปลา ปลาก็มาออคับคั่งอยู่ที่พระสังข์ทอง หกเขยหาปลาไม่ได้ทั้งวันและเมื่อพบปลามาอออยู่ที่พระสังข์ทองก็กราบไหว้อ้ออนวอนขอปลา พระสังข์ทองยกให้โดยขอตัดปลายจมูกหกเขยคนละหน่อย แล้วหกเขยกับเงาะป่านำปลาไปถวายเจ้าเมืองพาราณสี

เจ้าเมืองพาราณสีขัดแค้นใจที่ทำอันตรายเงาะป่าไม่ได้ก็เฝ้าคิดหาวิธีการอื่นที่จะกำจัดเงาะป่า พระอินทร์บนสวรรค์ทราบถึงการคิดร้ายของเจ้าเมืองพาราณสีต่อเงาะป่าจึงลงมาช่วย โดยเหาะลงมาลอยอยู่หน้าพระที่นั่งของเจ้าเมืองพาราณสี และกล่าวท้าทายว่าให้เจ้าเมืองพาราณสีหาคนดีมีฝีมือเหาะขึ้นมาตีคลีกับพระอินทร์บนอากาศภายในเจ็ดวัน ถ้าหาไม่ได้ก็จะฆ่าเจ้าเมืองพาราณสี

เจ้าเมืองพาราณสีตกใจมากให้หกเขยและบรรดาเสนาอำมาตย์ช่วยกันหาผู้อาสาเหาะไปตีคลี ทุกคนก็จนปัญญา เจ้าเมืองพาราณสีจึงให้ป่าวประกาศว่าผู้ใดที่สามารถเหาะไปตีคลีกับพระอินทร์บนอากาศได้จะยกราชสมบัติให้ แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดมาอาสา นางมณฑาเทวีพระมเหสีของเจ้าเมืองพาราณสีจึงแอบไปหานางรจนา และขอให้นางรจนาอ้อนวอนให้เงาะป่าช่วย เงาะป่าสงสารทั้งสองนางจึงรับปาก และในวันที่เจ็ดเงาะป่าก็ถอดรูปเป็นพระสังข์ทองใส่เกือกแก้วเหาะขึ้นไปตีคลีกับพระอินทร์จนชนะ พระอินทร์ก็กลับไปบนสวรรค์

เจ้าเมืองพาราณสีดีพระทัยมากได้ขอโทษพระสังข์ทองและยกราชสมบัติให้ตามสัญญา พระสังข์ทองขอลาไปตามหาพระนางจันทราเทวีก่อน พระสังข์ทองเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงเมืองมัทราษฎร์ จึงไปสืบถามที่บ้านธนัญชัยเศรษฐีว่ารู้จักหญิงที่ชื่อจันทราเทวีหรือไม่ ธนัญชัยเศรษฐีบอกว่าไม่รู้จัก แต่ก็เชิญพระสังข์ทองอยู่รับประทานอาหาร พระสังข์ทองสังเกตว่าอาหารมีรสปราณีตซึ่งผู้ทำจะต้องเป็นผู้ทำอาหารถวายพระเจ้าแผ่นดิน จึงขอพบแม่ครัวและซักถามประวัติก็ทราบว่าเป็นพระนางจันทราเทวีจึงดีใจมาก และขอธนัญชัยเศรษฐีที่จะรับพระมารดากลับไป

พระสังข์ทองนำพระมารดากลับไปอยู่ที่เมืองพาราณสี พระสังข์ทอง ปกครองเมืองพาราณสีจนเจริญรุ่งเรือง กิติศัพท์แพร่ไปยังนครอื่น ๆจนถึงเมืองพรหมนคร ชาวเมืองพรหมนครก็อพยพมาอยู่เมืองพาราณสี เสนาอำมาตย์เมืองพรหมนครจึงทูลเสนอพระเจ้าพรหมทัตว่าพระสังข์ทองพระราชโอรสครองเมืองพาราณสีมีความสามารถทำให้รุ่งเรืองจึงเห็นสมควรที่จะอัญเชิญพระสังข์ทองมาครองเมืองพรหมนครเพื่อสร้างความเจริญ พระเจ้าพรหมทัตเมื่อทรงทราบว่าพระโอรสยังมีชีวิตอยู่และมีความสามารถก็ยินดี และสำนึกผิดให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ไปเมืองพาราณสีและทูลเชิญพระสังข์ทองและพระนางจันทราเทวีกลับเมืองพรหมนคร พระสังข์ทองสงสารพระบิดาจึงอ้อนวอนพระมารดาให้อภัยพระเจ้าพรหมทัตและเดินทางกลับเมืองพรหมนคร พระเจ้าพรหมทัตก็มอบราชสมบัติให้พระสังข์ทองปกครองบ้าน เมืองเป็นสุขสืบมา

วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปิดไฟฟังนิทาน คิริทัตตชาดก ม้าขาเป๋





คิริทัตตชาดก ม้าขาเป๋

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วันเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้คบพวกผิดรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า..

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ผู้สอนธรรมของพระเจ้าสามะ ในเมืองพาราณสี พระราชามีม้ามงคล อยู่ตัวหนึ่งชื่อปัณฑวะ มีรูปร่างสวยงามมาก ต่อมาคนเลี้ยงม้าคนเดิมเสียชีวิตลง จึงรับนายคิริทัตซึ่งเป็นชายขาเป๋เข้ามาเลี้ยงม้าตัวนี้แทน    ฝ่ายม้าปัณฑวะเดินตามหลังนายคิริทัตทุกวันสำคัญว่า "คนนี้สอนเรา" จึงกลายเป็นม้าขาเป๋ไป นายคิริทัตได้เข้ากราบทูลเรื่องมาขาเป๋ให้พระราชาทราบ พระองค์ได้สั่งแพทย์ให้ไปตรวจดูอาการของม้า แพทย์ตรวจดูแล้วไม่พบโรคอะไรจึงไปกราบทูลให้พระราชาทราบ พระองค์จึงรับสั่งให้อำมาตย์ไปตรวจดู อำมาตย์โพธิสัตว์ไปตรวจดูก็ทราบว่าม้านี้เดินขาเป๋เพราะเกี่ยวกับคนเลี้ยงม้าขาเป๋ จึงกราบทูลให้ทราบว่าม้านี้เดินขาเป๋เพราะเกี่ยวกับคนเลี้ยงม้าขาเป๋ จึงกราบทูลให้พระราชาทราบว่า "ขอเดชะ ม้าปัณฑวะของพระองค์เป็นปกติดี ที่เดินเช่นนั้นเป็นเพราะแบบคนเลี้ยงม้า พระเจ้าข้า"

พระราชาตรัสถามว่า "แล้วจะให้ทำอย่างไรกับม้านี้ละทีนี้" อำมาตย์จึงกราบทูลว่า "เพียงได้คนเลี้ยงม้าขาดี ม้าก็จะเป็นปกติเหมือนเดิม พระเจ้าข้า" แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า

"ถ้าคนบริบูรณ์ด้วยอาการอันงดงามที่สมควรแก่ม้านั่น พึงจับมานั่นที่บังเหียนแล้วจูงไปรอบๆ สนามม้าไซร้ ม้าก็จะละอาการเขยกแล้วเลียนแบบคนเลี้ยงม้านั้นโดยพลัน"

พระราชารับสั่งให้เปลี่ยนคนเลี้ยงม้าใหม่ พอเปลี่ยนคนเลี้ยงม้าคนใหม่ ไม่นานม้านั้นก็เดินปกติดีเช่นเดิม พระราชาจึงได้พระราชทานลาภยศแก่พระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมากในฐานะรู้อัธยาศัยของม้านั้น

Cr: http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt217.php

Cr: https://www.youtube.com/watch?v=4F75_oHZR9Y


ปิดไฟฟังนิทาน โคธชาดก ฤาษีหลอกกินเหี้ย





โคธชาดก   ฤาษีหลอกกินเหี้ย

        ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้หลอกลวงรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...



   กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีดาบสผู้มีตบะกล้าตนหนึ่ง เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน จึงได้สร้างศาลาไว้ให้ที่ชายป่าแห่งหนึ่งใกล้บ้าน ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นเหี้ยตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง ใกล้ที่จงกรมของดาบสนั้น มันจะไปหาดาบสวันละสามครั้งเป็นประจำทุกวัน เพื่อฟังธรรม ไหว้ดาบสแล้ว จึงกลับไปอยู่ที่อยู่ของตน



   ต่อมาไม่นาน ดาบสนั้น ได้อำลาชาวบ้านไปที่อื่น ได้มีดาบสโกงตนหนึ่ง เข้ามาอาศัยในศาลานั้นแทน เหี้ยพระโพธิสัตว์ก็คิดว่า แม้ท่านผู้นี้ก็ทรงศีลเหมือนกัน จึงไปหาดาบสนั้นเช่นเดิม



   อยู่มาวันหนึ่ง ฝนได้ตกมาในฤดูแล้ง ฝูงแมลงเม่าได้พากันบินออกจากจอมปลวกเป็นจำนวนมาก ฝูงเหี้ยก็ได้ออกมากินแมลงเม่าเหล่านั้น พวกชาวบ้านพากันออกมาจับเหี้ยแล้วปรุงเป็นอาหาร รสอร่อยนำมาถวายดาบส ดาบสได้ฉันเนื้อนั้นแล้วติดใจในรส เมื่อทราบว่าเป็นเนื้อเหี้ย จึงคิดได้ว่า

     " มีเหี้ยใหญ่ตัวหนึ่งมาหาเราเป็นประจำ เราจะฆ่ามันกินเนื้อ "

จึงให้ชาวบ้านเอาเครื่องปรุงมาไว้ให้ ได้นั่งถือค้อนห่มคลุมผ้าอยู่ที่ประตูศาลา



   เย็นวันนั้น เหี้ยโพธิสัตว์ ได้ไปหาดาบสตามปกติ ได้เห็นท่านั่งที่แปลกของดาบส คิดว่า " วันนี้ดาบส นั่งท่าที่ไม่เหมือนวันก่อน นั่งชำเลืองเราเป็นประจำ " จึงไปยืนดูอยู่ใต้ทิศทางลม ได้กลิ่นเนื้อเหี้ย จึงทราบว่า " ดาบสโกงนี้ คงฉันเนื้อเหี้ย ติดใจในรสแล้ว คราวนี้ หวังจะตีเรา เอาเนื้อไปแกงเป็นอาหารแน่ๆ " จึงไม่ยอมเข้าไปใกล้ ถอยกลับแล้ววิ่งหนีไป



   ฝ่ายดาบสโกงทราบว่าเหี้ยรู้ตัวไม่ยอมมาแล้ว จึงลุกขึ้นขว้างค้อนตามหลังไป ค้อนได้ถูกเพียงหางเหี้ยเท่านั้น เหี้ยได้หลบเข้าไปในจอมปลวกอย่างรวดเร็ว โผล่เพียงศีรษะออกมาเท่านั้น กล่าวติเตียนดาบสด้วยคาถานี้ว่า

     " นี่เจ้าผู้โง่เขลา จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้า ด้วยชฎาและการนุ่งห่มหนังเสือเหลือง

       ภายในของเจ้าแสนจะรกรุงรัง เจ้าดีแต่ขัดสีภายนอกเท่านั้น "

Cr:http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt152.php

Cr:https://www.youtube.com/watch?v=bn1nYH1f9YM

วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปิดไฟฟังนิทาน กุกกุระชาดก พญาสุนัขเจ้าปัญญา





กุกกุรชาดก: พญาสุนัขเจ้าปัญญา, การสงเคราะห์ญาติ

.....ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายนั่งสนทนากันอยู่ ณ เชตวันมหาวิหารถึงเรื่องที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงช่วยให้พระประยูรญาติจำนวนมากได้บรรลุธรรม และในจำนวนนั้นมีพระประยูรญาติหลายพระองค์ได้มาเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีพระอานนท์ เป็นต้น



.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบถึงข้อสนทนานั้น จึงตรัสว่า "มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่ตถาคตได้นำประโยชน์มาสู่หมู่ญาติ แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็นำประโยชน์มาสู่หมู่ญาติแล้วเช่นกัน" จากนั้นพระองค์จึงได้ตรัสเล่ากุกกุรชาดก



ครั้งอดีตกาล ในสมัยพระเจ้าพรหมทัตทรงปกครองกรุงพาราณสี



     พระองค์ทรงโปรดการประพาสอุทยานเป็นอันมาก ในการประพาสนั้นพระองค์จะทรงรถม้าพระที่นั่ง พร้อมด้วย เหล่าองครักษ์ติดตามจำนวนหนึ่ง



     วันหนึ่งพระองค์เสด็จประพาสอุทยาน จนกระทั่งเวลาเย็นมาก เมื่อกลับมาถึงยัง

พระราชวัง ราชบุรุษไม่สามารถลากรถไปเก็บได้ในวันนั้น จึงจอดทิ้งไว้นอกโรงรถตลอดทั้งคืน



     ในค่ำวันนั้น มีเมฆฝนตั้งเค้าทมึน ไม่นานฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก ทั่วทั้ง พระราชวัง ทำให้ราชรถที่จอดทิ้งไว้เปียกชุ่มไปด้วยน้ำ หนังที่หุ้มราชรถจึงอ่อนตัวลง และส่งกลิ่นเหม็นตุๆ

     เมื่อฝนหยุดตกกลิ่นหนังที่เปียกชื้นได้ส่งกลิ่นไปทั่ว  จนไปเข้าจมูกบรรดาสุนัขที่เลี้ยงไว้ในพระราชวัง  พวกสุนัขออกเดินตามกลิ่นไปเรื่อยๆ

     เหล่าสุนัขในวังแทนที่จะเฝ้าดูแลของให้เจ้านายของตน กลับกรูกันเข้ามากัดหนังที่หุ้มราชรถจนพังยับเยิน



     เช้าวันต่อมา ราชบุรุษได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต และกราบทูลว่ามีสุนัขจากนอกวังเข้ามากัดราชรถ

     ด้วยความคิดที่ไม่รอบคอบของพระราชา บรรดาสุนัขนอกวัง จึงถูกฆ่าตายราวกับใบไม้ร่วง



     เหล่าสุนัขนอกวัง ได้รับความยากลำบากจึงปรึกษาหารือเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

     ณ ป่าช้านอกเมืองพาราณสี บรรยากาศเงียบสงัดปราศเสียงของสิงสาราสัตว์เช่นปกติในป่าทั่วไป

     กลุ่มสุนัขเดินลึกเข้าในป่าช้าจนกระทั่งพบกับสุนัขที่ทำหน้าที่เฝ้าป่าช้าแห่งนั้น เหล่าสุนัขทั้งหลาย จึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้พญาสุนัขฟัง

    จากนั้น พญาสุนัขจึงระลึกถึงบุญบารมีที่ได้สั่งสมไว้พร้อมกับอธิษฐานว่า

"ด้วยบุญบารมีที่ข้าพเจ้าสร้างสมมาดีแล้ว และด้วยจิตเมตตาที่จะช่วยสรรพ

สัตว์ทั้งหลาย ขอจงช่วยคุ้มครองอย่าให้ใครทำร้ายหรือคิดร้ายต่อข้าพเจ้าเลย"

    ภายในตัวเมืองพาราณสี มีผู้คนเดินไปมาอยู่ทั่วไปพร้อมทั้งเหล่าทหารของพระราชา แต่ทหารเหล่านั้น ก็ไม่สามารถทำร้าย พญาสุนัข ได้ ทั้งไม่มีจิตที่คิดจะทำร้ายเลยแม้แต่น้อย

   พญาสุนัข เดินเข้าไปจนถึงในวัง แม้ พระเจ้าพรมทัตเอง ก็ยังทรงมีพระเมตตาต่อ พระญาสุนัขด้วยเช่นกัน กล่าวกับพญาสุนัขว่า

" บอกมาซิ เจ้าเข้ามาในวังของเราทำไมรึ? "

พญาสุนัขกว่าวตอบว่า

" ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบว่า พระองค์มีรับสั่งให้ ราชบุรุษฆ่าสุนัขทุกตัวจริงหรือ พระเจ้าข้า? "

พระเจ้าพรมทัต

" จริง เพราะสุนัขทั้งหลาย กัดแทะหนังหุ้มาชรถของเราเสียหาย "

พญาสุนัข



" เมื่อแรกตรัสว่าให้ฆ่าสุนัขทุกตัว แล้วเหตุใดจึงทรงยกเว้นสุนัขในวังเล่าพระเจ้าข้า เช่นนี้จะไม่เป็นการลำเอียงเข้าข้างสุนัขของพระองค์เองหรอกหรือ ธรรมดาพระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่ง ความยุติธรรมอตจตราชู ยึดมั่นในราชธรรมอย่างเคร่งครัด สุนัขของท่านเองท่านไม่ให้ฆ่า กลับสั่งฆ่าสุนัขอื่นๆที่บริสุทธิ์ "

พระเจ้าพรมทัต

" สุนัขที่เราเลี้ยงไว้ทุกตัวได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างดีย่อมจะไม่กัดกินหนังหุ้มราชรถของเราเอง เจ้าบังอาจกว่าวว่าเราสั่งฆ่าผู้บริสุทธิ์เจ้ารู้หรือว่าใครเป็นตัวการ "

พญาสุนัข

" สุนัขในวัง เป็นตัวการ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพเจ้ามีวิธีพิสูจน์ "

     พญาสุนัข บอกให้ เอาน้ำมันเปรียงขยำกับหญ้า ให้สุนัขในวังกิน สุนัขในวังกินแล้ว สำรอก(อ๊วก) ออกมา มีเศษหนังหุ้มราชรถออกมาด้วย ทำให้ความจริงปรากฎ

     พระเจ้าพรมทัต จึงสั่งให้ไล่สุนัขในวังออกไป และยกเลิกคำสั่งฆ่าสุนัขทั้งหลายเสีย และกล่าวกับ พญาสุนัขว่า

" แม้เจ้าเป็นสัตว์เดียรัจฉาน แต่ก็มีความอาจหาญ กล้าเอาชีวิตตนเองเสี่ยงกับความตาย เพื่อความยุติธรรม และความสงบสุขของหมู่ญาติทั้งปวงของเจ้า "

     พระเจ้าพรหมทัตทรงซาบซึ้งพระทัยยิ่งนัก โปรดให้กั้นเศวตฉัตรแก่พญาสุนัข พญาสุนัขจึงแสดงทศพิธราชธรรมถวายและขอให้พระองค์ตั้งมั่นอยู่ในศีลห้า ให้บำรุงพระชนกชนนี ดำรงอยู่ในความไม่ประมาทตลอดไป แล้วถวายเศวตฉัตรคืนตั้งแต่นั้นพระองค์โปรดให้นำอาหารอย่างดีไปเลี้ยงสุนัขทั้งหลายตลอดไป และทรงห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ทั้งหลายในกรุงพาราณสี พระองค์และข้าราชบริพารต่างประพฤติตามโอวาทของพญาสุนัข ครั้นละโลกต่างไปบังเกิดในสวรรค์ด้วยกันทั้งสิ้น

:: ข้อคิดจากชาดก ::

.....๑. เมื่อเกิดเรื่องไม่ดีไม่งามขึ้นในบ้านหรือในที่ทำงาน ควรเฉลียวใจถึงบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับเราด้วย มิฉะนั้น เราอาจจะลงโทษผิดคนได้ โบราณจึงมีข้อเตือนใจ เช่น หนอนบ่อนไส้ เป็นต้น

.....๒. ความอยุติธรรมทั้งหลาย มักเกิดจากความลำเอียง ๔ ประการคือ ลำเอียงเพราะรัก ชัง กลัว และหลง

.....๓. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงมงคลชีวิตในมงคลที่ ๑๗ ว่า การสงเคราะห์ญาติเป็นมงคลอันสูงสุด เมื่อเรามีความผาสุก หรือเมื่อต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใดๆ ญาติของเราอาจช่วยเราได้

การสงเคราะห์ญาติเป็นมงคลอันสูงสุด พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตประพฤติประโยชน์แก่พระญาติทั้งหลายในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็ได้ประพฤติแล้วเหมือนกัน ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในกาลนั้น ได้เป็นพระอานนท์ บริษัทที่เหลือนอกนี้ ได้เป็นพุทธบริษัท ส่วนกุกกุรบัณฑิตคือเราแล

Cr : http://www.kkdee.com/nithan/index/story/var/181

Cr : https://www.youtube.com/watch?v=upxb5RIB_II

ปิดไฟฟังนิทาน พญานกยูงติดบ่วง







อรรถกถา มหาโมรชาดก
ว่าด้วย พญานกยูงติดบ่วง
         

               พระศาสดาเสด็จประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภภิกษุผู้กระสันรูปหนึ่ง ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สเจ หิ ตฺยาหํ ธนเหตุ คหิโต ดังนี้. 
               เรื่องย่อมีว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า จริงหรือที่ข่าวว่าเธอกระสันจะสึก ครั้นเธอรับสารภาพว่า จริงพระเจ้าข้า. ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ความกำหนัดด้วยความสามารถชื่นใจนี้ ไฉนจักไม่ให้บุคคลอย่างเธอ วุ่นวายได้เล่า มีอย่างหรือ ลมที่จะสามารถพลิกภูเขาสุเนรุได้ ไม่ทำให้ใบไม้เก่าๆ ใกล้ๆ กระจัดกระเจิงไป ในปางก่อนนั่นนะ แม้สัตว์ผู้บริสุทธิ์คอยหักห้าม ความฟุ้งซ่านของกิเลสในภายใน อยู่ ๗๐๐ ปี ก็ยังโดนความกำหนัด ด้วยสามารถความชื่นใจนี้ ทำให้วุ่นวายได้เลย. 
               ทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้ 
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้ถือปฏิสนธิในท้องนางนกยูง ในประเทศชายแดน. เมื่อครรภ์แก่เต็มที่แล้ว นางนกยูงผู้มารดาตกฟอง ณ ที่หากิน แล้วบินไป ก็ธรรมดาว่า ฟองไข่ เมื่อมารดาไม่มีโรค และไม่มีอันตรายอื่น ๆ เป็นต้นว่า ทีฆชาติรบกวน ย่อมไม่เสีย. เหตุนั้น ฟองไข่นั้น จึงเป็นเหมือนดอกกรรณิการ์ตูม ๆ มีสีเหมือนสีทอง. เมื่อเวลาครบกำหนดก็แตกโดยธรรมดาของตน. ลูกนกยูงมีสีเป็นทอง ออกมาแล้ว. ลูกนกยูงทองนั้น มีนัยน์ตาทั้งคู่ คล้ายผลกระพังโหม มีจะงอยปากสีเหมือนแก้วประพาฬ มีสร้อยสีแดงสามชั้นวงรอบคอ ผ่านไปกลางหลัง. ครั้นยูงทองเจริญวัย มีร่างกายเติบใหญ่ขนาดดุมเกวียน รูปงามยิ่งนัก. ฝูงนกยูงเขียวๆ ทั้งหมด ประชุมกันยกให้ นกยูงทองเป็นเจ้านาย พากันแวดล้อมเป็นบริวาร. 
               วันหนึ่ง นกยูงทองดื่มน้ำในกระพังน้ำ เห็นรูปสมบัติของตน คิดว่า เรามีรูปงามล้ำเลิศกว่านกยูงทั้งหมด ถ้าเราจักอยู่ในแดนมนุษย์กับฝูงนกยูงเหล่านี้ อันตรายคงบังเกิดแก่เรา เราต้องไปป่าหิมพานต์อาศัยอยู่ ณ ที่อันสำราญ ลำพังผู้เดียวจึงจะดี. เมื่อฝูงนกยูงพากันแนบรังนอน ในราตรีกาล ก็มิได้บอกให้ตัวอะไรรู้เลย โผขึ้นบินเข้าป่าหิมพานต์ ผ่านทิวเขาไป ๓ ทิว ถึงทิวที่ ๔ มีสระธรรมชาติขนาดใหญ่ ดาดาษไปด้วยปทุม อยู่ในป่าตอนหนึ่ง ไม่ไกลสระนั้น มีต้นไทรใหญ่เกิดอาศัยภูเขาลูกหนึ่ง ก็ลงเร้นกายถึงกิ่งไทรนั้น. 
               อนึ่งเล่า ที่ตรงกลางภูเขานั้น ยังมีถ้ำอันน่าเจริญใจ. พญายูงทองมุ่งจะอยู่ในถ้ำนั้น จึงลงเกาะที่พื้นภูเขาตรงหน้าถ้ำนั้น. ก็แลที่ตรงนั้น ผู้อยู่ข้างล่างไม่อาจขึ้นไปได้เลย ผู้อยู่ข้างบนเล่าก็ไม่อาจลงไปได้ เป็นที่ปลอดภัยจาก แมว งู มนุษย์. พญานกยูงทองดำริว่า ตรงนี้เป็นที่อันสำราญของเรา คงพักอยู่ตรงนั้นเอง ตลอดวันนั้น ต่อรุ่งขึ้น ก็ลุกออกจากถ้ำ เกาะที่ยอดเขา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เห็นสุริยมณฑลกำลังอุทัย ก็สวดปริตร เพื่อขอความคุ้มครองป้องกันตน ในเวลากลางวันว่า อุเทตยฺจกฺขุมา เอกราชา พระเจ้าองค์เอก ทรงพระจักษุพระองค์นี้ กำลังอุทัยดังนี้เป็นต้น แล้วร่อนลง ณ ที่หากิน เที่ยวหากิน 
               ตอนเย็น จึงมาเกาะที่ยอดเขาบ่ายหน้าทางทิศตะวันตก เพ่งดูสุริยมณฑลอันอัสดง สวดพระปริตร เพื่อขอความคุ้มครองป้องกัน ในเวลากลางคืนว่า อเปตยฺจกฺขุมา เอกราชา พระเจ้าองค์เอก ทรงพระจักษุพระองค์นี้ กำลังเสด็จออกไป ดังนี้เป็นต้น พำนักอยู่ด้วยอุบายนี้. 
               ครั้น ณ วันหนึ่ง ลูกนายพรานผู้หนึ่งท่องเที่ยวไปในราวป่า เห็นพญายูงทองนั้นจับอยู่เหนือยอดเขา จึงมาที่อยู่ของตน เมื่อจวนจะตายบอกลูกไว้ว่า พ่อเอ๋ย ในราวป่าตรงทิวเขาที่ ๔ มีนกยูงทอง ถ้าพระราชาตรัสถาม ก็กราบทูลให้ทรงทราบ. 
               อยู่มาวันหนึ่ง พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ทรงพระนามว่า เขมา ทรงเห็นพระสุบิน ในเวลาใกล้รุ่ง พระสุบินได้มีเรื่องราวอย่างนี้. นกยูงมีสีเหมือนสีทอง กำลังแสดงธรรม. พระนางทรงให้ สาธุการสดับธรรม. นกยูง ครั้นแสดงธรรมเสร็จ ก็ลุกขึ้นบินไป. พระนางทอดพระเนตรเห็น พญายูงทองกำลังบินไป ก็ตรัสสั่งให้ คนทั้งหลายช่วยกันจับพญานกยูงนั้นให้ได้ ขณะที่กำลังตรัสอยู่นั่นแหละ ทรงตื่นเสีย ครั้นทรงตื่นแล้ว จึงทรงทราบว่า เป็นความฝัน ทรงดำริต่อไปว่า ครั้นจะกราบทูลว่า ฝันไป ที่ไหนพระราชาจะทรงเอา พระหฤทัยเอื้อเฟื้อ แล้วทรงบรรทม ประหนึ่งทรงแพ้พระครรภ์. 
               ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเข้ามาใกล้พระนาง ตรัสถามว่า นางผู้เจริญใจ เธอไม่สบาย เป็นอะไรไปเล่า. กราบทูลว่า ความแพ้ครรภ์บังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน พระเจ้าค่ะ. ตรัสถามว่า เธอต้องการสิ่งใดเล่า จ๊ะ นางผู้เจริญ. กราบทูลว่า ข้าแต่ทูลกระหม่อม เกล้ากระหม่อมฉันปรารถนาจะฟังธรรมของพญานกยูงทอง พระเจ้าค่ะ. รับสั่งว่า นางผู้เจริญใจเอ๋ย ฉันจักหาพญายูงทองอย่างนี้ ได้จากไหนเล่า. กราบทูลว่า ข้าแต่ทูลกระหม่อม แม้เกล้ากระหม่อมฉัน มิได้สมปรารถนา ชีวิตของเกล้ากระหม่อมฉัน เป็นอันไม่มีละ พระเจ้าค่ะ. ตรัสปลอบว่า นางผู้เจริญใจ อย่าเสียใจเลยนะ ถ้ามันมีอยู่ ณ ที่ไหน เธอต้องได้แน่นอน แล้วเสด็จประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์ ตรัสถามหมู่อำมาตย์ว่า แน่ะพ่อเอ๋ย เทวีปรารถนาจะฟังธรรมของนกยูงทอง อันนกยูงมีสีเหมือนสีทองน่ะ มีอยู่หรือไม่. 
               พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ขอเดชะ พวกพราหมณ์คงจักทราบ พระเจ้าข้า. 
               พระราชาตรัสให้หาพวกพราหมณ์มาเฝ้าแล้ว มีพระดำรัสถาม. 
               พวกพราหมณ์พากันกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระมหาราช สัตว์เดียรัจฉานเหล่านี้คือ ในจำพวกสัตว์น้ำ ปลา เต่า ปู ในจำพวกสัตว์บก มฤค หงส์ นกยูง นกกระทา มีสีเหมือนสีทอง มีอยู่. แม้มนุษย์ทั้งหลายเล่า ก็มีสีเหมือนสีทองมีอยู่ ทั้งนี้ มีมาในคัมภีร์ลักษณมนต์ ของข้าพระองค์ทั้งหลาย พระเจ้าข้า. 
               พระราชาทรงเรียกพวกบุตรพรานในแว่นแคว้นของพระองค์ มาประชุมกัน. รับสั่งว่า นกยูงทองพวกเธอเคยเห็นบ้างไหม. คนที่บิดาเคยเล่าให้ฟัง กราบทูลว่า ถึงข้าพระองค์จะไม่เคยเห็น แต่บิดาของข้าพระองค์บอกไว้ว่า นกยูงทองมีอยู่ในสถานที่ตรงโน้น พระเจ้าข้า. ครั้งนั้น พระราชาตรัสกะเขาว่า สหายเอ๋ย เธอจักเป็นคนให้ชีวิตแก่ฉันและเทวีได้ละ เพราะฉะนั้น เธอจงไปที่นั้น จับมัดนกยูงทองนั้นนำมาเถิด ประทานทรัพย์เป็นอันมาก ส่งไป. เขาให้ทรัพย์แก่ลูกเมียแล้วไป ณ ที่นั้น เห็นพระมหาสัตว์ ก็ทำบ่วงดักรอว่า วันนี้คงติด วันนี้คงติด ก็ไม่ติดสักที จนตายไป. พระเทวีเล่า เมื่อไม่ได้ดังพระปรารถนา ก็สิ้นพระชนม์ไป. 
               พระราชาทรงกริ้วว่า เพราะอาศัยนกยูงทองตัวนี้เป็นเหตุ เมียรักของเราต้องสิ้นพระชนม์ ทรงมีพระหฤทัยเป็นไปในอำนาจแห่งเวร ทรงให้จารึกไว้ในแผ่นทองว่า ที่ทิวเขาที่สี่ในป่าหิมพานต์ มีนกยูงทองอาศัยอยู่ บุคคลได้กินเนื้อของยูงทองแล้วนั้น จะไม่แก่ไม่ตาย แล้วบรรจุหนังสือนั้นไว้ในหีบไม้แก่น เสด็จสวรรคตไป. ครั้นกษัตริย์องค์อื่นได้เป็นพระราชาแล้ว ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นอักษรในแผ่นทอง ก็ทรงดำริว่า เราจักเป็นผู้ไม่แก่ไม่ตาย ทรงส่งให้พรานผู้หนึ่งไปเพื่อจับพญายูงทองนั้น. แม้พรานผู้นั้น ก็ตายเสียที่นั้น ดุจกัน. โดยทำนองนี้ ล่วงไปถึง ๖ รัชกาลแล้ว ลูกพรานทั้ง ๖ ตายในป่าหิมพานต์นั้นเอง. 
               ถึงพรานคนที่ ๗ ซึ่งพระราชาองค์ที่ ๗ ทรงใช้ไป คิดว่า เราจักจับนกยูงทองนั้นได้ในวันนี้ ในวันนี้แน่นอน ล่วงไปถึง ๗ ปี ก็ไม่สามารถจะจับนกยูงทองตัวนั้นได้ ดำริว่า ทำไมเล่าหนอ บ่วงจึงไม่รูดรัดเท้าของพญายูงทองนี้ คอยกำหนดดูพญานกยูงทองนั้น เห็นเจริญพระปริตร ทุกเย็นทุกเช้า ก็กำหนดได้โดยนัยว่า ในสถานที่นี้ นกยูงตัวอื่นไม่มีเลย. อันพญายูงทองตัวนี้คงประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยอานุภาพแห่งพรหมจรรย์ และด้วยอานุภาพแห่งพระปริตร บ่วงจึงไม่ติดเท้าของพญายูงทอง แล้วจึงไปสู่ปัจจันตชนบท ดักนางยูงได้ตัวหนึ่ง ฝึกฝนให้ขันในเวลาดีดนิ้วมือ ให้ฟ้อนในเวลาตบมือ แล้วพาไป ก่อนเวลาที่พระโพธิสัตว์จะเจริญปริตรทีเดียว ดักบ่วงไว้ ดีดนิ้วมือให้นางยูงขัน. เมื่อพญายูงทองได้ฟังเสียงของนางยูง กิเลสที่ราบเรียบไปตลอดเวลา ๗๐๐ ปี ก็ฟุ้งขึ้น ทันทีทันใด เป็นเหมือนอสรพิษที่ถูกตีด้วยท่อนไม้ แผ่พังพาน ฉะนั้น. เธอกระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลส จนไม่สามารถจะเจริญพระปริตรได้ทีเดียว บินไปยังสำนักนางยูงโดยเร็ว ถลาลงโดยอากาศ สอดเท้าเข้าไปในบ่วงเสียเลย. บ่วงที่ไม่เคยรูด ตลอด ๗๐๐ ปี ก็รูดรัดเท้า ในขณะนั้นแล. 
               ทีนั้น ลูกนายพรานเห็น พญายูงทองนั้นห้อยต่องแต่ง อยู่ที่ปลายคัน แล้วคิดว่า ลูกนายพราน ๖ คน ไม่สามารถที่จะดักพญายูงทองนี้ได้ ถึงตัวเราก็ไม่สามารถดักได้ ๗ ปี. วันนี้เวลาอาหารเช้า พญายูงอาศัยนางยูง เป็นสัตว์กระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลส ถึงไม่อาจเจริญปริตร มาติดบ่วงแขวนต่องแต่ง เอาหัวลงอยู่ เป็นสัตว์มีศีล เห็นปานฉะนี้ ถูกเรากระทำให้ลำบากเสียแล้ว การน้อมนำสัตว์เช่นนี้ เข้าไปเพื่อเป็นบรรณาการแด่พระราชา ไม่ควรเลย เราจะต้องการอะไร ด้วยสักการะที่พระราชาทรงพระราชทาน จักปล่อยเธอเสียเถอะ 
               หวนคิดว่า พญายูงนี้มีกำลังดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง เมื่อเราเข้าไปใกล้ คงคิดว่า ผู้นี้จักมาฆ่าเรา แล้วเลยกลัวตายอย่างเหลือล้น ดิ้นรนไป ทำลายเท้าหรือปิกเสียได้ ก็ครั้นเราไม่เข้าไปใกล้ คงซุ่มตัดบ่วงให้ขาดด้วยคมศร แต่นั้น เธอก็จักไปตามพอใจ โดยลำพังตนเอง. เขาคงยืนอยู่ในที่ซ่อน ยกธนูขึ้นสอดลูกศร ยืนจ้องอยู่. 
               ฝ่ายพญายูงดำริว่า พรานผู้นี้ทราบการที่ต้องทำให้ เรากระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลสแล้ว จึงดักได้ง่ายดาย ไม่เห็นกระตือรือร้นเลย เขาซุ่มอยู่ตรงไหนเล่านะ มองดูรอบๆ ข้าง เห็นยืนจ้องธนู สำคัญว่า คงจักปรารถนาฆ่าเราให้ตาย แล้วก็สะดุ้งกลัวต่อความตาย เป็นล้นพ้น. 
               เมื่อจะวอนขอชีวิต จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า
               ดูก่อนสหาย ก็ถ้าแหละท่านจับข้าพเจ้า เพราะเหตุแห่งทรัพย์แล้ว ท่านอย่าฆ่าข้าพเจ้าเลย จงจับเป็น นำข้าพเจ้าไปถวายพระราชาเถิด เข้าใจว่า ท่านจักได้ทรัพย์มิใช่น้อยเลย.
 
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สเจ หิ ตฺยาหํ ตัดเป็น สเจ หิ เต อหํ. บทว่า อุปนฺติ เน หิ แปลว่า จงเข้าไปใกล้. บทว่า ลจฺฉสินปฺปรูปํ ความว่า ท่านจักได้ทรัพย์ไม่น้อย เป็นแน่. 
               ลูกนายพรานได้ยินคำนั้นแล้ว ดำริว่า พญายูงคงเข้าใจว่า พรานนี้สอดใส่ลูกศร เพื่อต้องการจะยิง ต้องปลอบเธอเถอะ เมื่อจะปลอบ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
               เราผูกสอดลูกธนูใส่เข้าในแล่ง มิได้หมายมั่นว่า จะฆ่าท่านในวันนี้เลย แต่เราจักตัดบ่วงที่ผูกรัดเท้าท่าน พญายูงจงไปตามสบายเถิด.
 
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อธิปาตยิสฺสํ แปลว่า เราจักตัด. 
               ลำดับนั้น พญายูงได้กล่าวสองคาถาว่า
               เหตุไร ท่านจึงเพียรดักข้าพเจ้ามาถึง ๗ ปี สู้อดกลั้นความหิวกระหายทั้งกลางคืนและกลางวัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านปรารถนาจะปลดปล่อยข้าพเจ้า ผู้ติดบ่วงเสียจากบ่วง เพื่ออะไร
               วันนี้ ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตหรือ หรือว่าท่านให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง เหตุไร ท่านจึงปรารถนาจะปลดปล่อยข้าพเจ้า ผู้ติดบ่วงออกจากบ่วง เสียเล่า.
 
               ในสองคาถานั้น บทว่า ยํ มีอธิบายบางบทว่า ท่านเพียรดักข้าพเจ้ามา ตลอดถึงเพียงนี้ เพราะเหตุใด. บทว่า วิรโต นุสชฺช ความว่า ในวันนี้ ท่านงดเว้นจากปาณาติบาต กระมั่ง. บทว่า สพฺพภูเตสุ ความว่า ท่านได้ให้อภัยแก่ฝูงสัตว์ทั้งปวงได้ แล้วละซิ. 
               ต่อจากนี้ไป พึงทราบความสัมพันธ์แห่งการโต้ตอบ ดังนี้. 
               นายพรานถามว่า
               ดูก่อนพญายูง ขอท่านจงบอกว่า ผู้ใดเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต และให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้าขอถามความนั้นกะท่าน ผู้นั้นจุติจากโลกนี้แล้ว จะได้ความสุขอะไร.

               ข้าพเจ้าขอบอกว่า ผู้ใดเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต และให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง ผู้นั้นย่อมได้รับความสรรเสริญในปัจจุบัน และเมื่อตายไปย่อมไปสู่สวรรค์.

               สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่า เทวดาทั้งหลายไม่มี ชีพย่อมเข้าถึงความเป็นต่างๆ กันในโลกนี้ ผลของกรรมดีและกรรมชั่วก็ไม่มีเหมือนกัน และกล่าวว่า ทานอันคนโง่บัญญัติไว้ ข้าพเจ้าเชื่อถ้อยคำของพระอรหันต์เหล่านั้น ฉะนั้น จึงเบียดเบียนนกทั้งหลาย.
 
               คาถาที่ร้อยกรองมีความง่ายๆ เหล่านี้ พึงทราบตามนัยแห่งพระบาลีนั้น นั่นแล. 
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิจฺจาหุ เอเก ความว่า สมณพราหมณ์บางพวกได้กล่าวอย่างนี้. 
               บทว่า เตสํ วโจ อรหตํ สทฺทหาโน ขยายความว่า 
               ได้ยินว่า พวกชีเปลือยผู้มีวาทะว่า ขาดสูญ เป็นพวกใกล้ชิดสกุลของนายพรานนั้น พวกเหล่านั้นพากันชวนนายพราน ผู้เป็นสัตว์แม้จะพร้อมด้วย อุปนิสัยแห่งปัจเจกโพธิญาณ ให้ยึดถืออุจเฉทวาทเสียได้ เพราะสังสรรค์กับพวกชีเปลือยนั้น 
               นายพรานนั้นจึงยึดเอาว่า ผลแห่งกุศลและอกุศลไม่มี จึงฆ่าฝูงนกเสียนักหนา อันการคบหากับคนผู้มิใช่สัตบุรุษนี้ มีโทษใหญ่หลวงถึงเพียงนี้ และพรานนี้สำคัญว่า พวกนั้นเท่านั้นเป็นอรหันต์ จึงกล่าวอย่างนี้ (ข้าพเจ้าเชื่อถือถ้อยคำของพวกอรหันต์เหล่านั้น). 
               พระมหาสัตว์ฟังคำนั้นแล้วดำริว่า เราต้องกล่าวถึงความที่ปรโลกมีอยู่แก่เขา ทั้งๆ ที่ห้อยศีรษะลงอยู่ปลายคันแล้ว นั่นแหละ กล่าวคาถาว่า
               ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ เห็นกันได้ง่ายๆ ส่องสว่างไปในอากาศ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งสองนั้น อยู่ในโลกนี้ หรือในโลกอื่น สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวถึง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ว่า เป็นเทวดาในมนุษยโลก อย่างไรหรือ.
 
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิมสฺส ความว่า ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งสอง เป็นของมีอยู่ในโลกนี้หรือ หรือเป็นของมีในโลกเหล่าอื่น. คำว่า ปรโลกสฺส เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ. บทว่า กถนฺนุ เต ความว่า พระอรหันต์นั้นกล่าวไว้อย่างไรเล่า ในวิมานเหล่านี้ ได้แก่เทวบุตร หรือพระจันทร์และพระอาทิตย์ มีอยู่หรือไม่มีเล่า เป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์เล่า. 
               ลูกนายพรานกล่าวคาถาว่า
               ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ เห็นกันได้ง่ายๆ ส่องสว่างไปในอากาศ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้น มีอยู่ในโลกอื่นไม่มีในโลกนี้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวถึง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ว่า เป็นเทวดาในมนุษยโลก.
 
               ครั้งนั้น พระมหาสัตว์กล่าวคาถาว่า
               สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะว่า หาเหตุมิได้ ไม่กล่าวถึงกรรม ไม่กล่าวถึงผลแห่งกรรมดีกรรมชั่ว และกล่าวถึงทานว่า คนโง่บัญญัติไว้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้มีวาทะเลวทราม ถูกท่านกำจัดเสียแล้วเพราะการพยากรณ์นี้แหละ.
 
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตฺเถว เต นีหตา ความว่า ถ้าพระจันทร์พระอาทิตย์สถิตอยู่ในเทวโลก มิใช่สถิตอยู่ในมนุษยโลก และถ้าพระจันทร์พระอาทิตย์เหล่านี้เป็นเทวดา มิใช่เป็นมนุษย์เลยไซร้ ตอนนี้เอง คือในการพยากรณ์เพียงเท่านี้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นที่เป็นผู้ใกล้ชิดตระกูลของท่าน เป็นพวกมีวาทะเลวๆ เป็นอันถูกท่านกำจัดเสียแล้ว. บทว่า อเหตุกา ความว่า สมณพราหมณ์พวกใดมีวาทะอย่างนี้ว่า กรรมอันเป็นตัวเหตุแห่งความผุดผ่องและความเศร้าหมอง ไม่มี ชื่อว่าพวกไม่มีเหตุ. บทว่า ทตฺตุปญฺตฺตํ ความว่า และพวกที่กล่าวถึงทานว่า คนโง่ๆ พากันบัญญัติไว้. 
               เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวเรื่อยๆ ไป เขากำหนดได้แล้ว กล่าวคาถาว่า
               คำของท่านนี้เป็นคำจริงแท้ทีเดียว ไฉนทานจะไม่พึงมีผลเล่า ผลของกรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน ไฉนจะไม่มีผล อนึ่ง ทานนี้จะว่าคนโง่บัญญัติขึ้นอย่างไรได้.
               ดูก่อนพญายูง ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร จะทำอะไร ประพฤติอะไร เสพสมาคมอะไร ด้วยตบะคุณอะไร อย่างไรจึงจะต้องไม่ไปตกนรก ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด.
 
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทตฺตุปญฺญตฺตญฺจ ความว่า ทานชื่อว่า อันคนเซอะบัญญัติแล้ว พึงมีผลอย่างไร. บทว่า กถงฺกโร ความว่า กระทำกรรมไฉน. บทว่า กินฺติกโร ความว่า เพราะเหตุไร เมื่อเราทำกรรม จึงไม่ไปสู่นรก. คำนอกนี้ เป็นไวพจน์ของคำนั้นนั่นแล. 
               พระมหาสัตว์ฟังคำนั้นแล้วดำริว่า ถ้าเราจักไม่กล่าวแก้ปัญหานี้ โลกมนุษย์จักเกิดเป็นดุจว่างเปล่า เราจักกล่าวความที่สมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรมมีอยู่ในโลกมนุษย์นั่นเองแก่เขา ได้ภาษิตสองคาถาว่า
               มีสมณะเหล่าใดเหล่าหนึ่ง นุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด ประพฤติเป็นผู้ไม่มีเรือน เที่ยวไปบิณฑบาตในเวลาเช้าในกาล เว้นจากการเที่ยวไปในเวลาวิกาล ผู้สงบระงับอยู่ในแผ่นดินนี้แน่
               ท่านจงเข้าไปหาสมณะเหล่านั้นในเวลาอันควร ณ ที่นั้น แล้วจงถามข้อความตามความพอใจของท่าน สมณะเหล่านั้นก็ชี้แจงประโยชน์ในโลกนี้ และโลกหน้าให้แก่ท่าน ตามความรู้ความเห็น.
 
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺโต คือท่านบัณฑิตผู้มีบาปอันระงับแล้ว ได้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า. บทว่า ยถาปชานํ ความว่า สมณะเหล่านั้นจักบอกแก่ท่านตามทำนองที่ตนทราบ คือจักกล่าวคำกำจัดความสงสัยของท่านเสียได้. บทว่า ปรสฺส จตฺถํ ความว่า สมณะเหล่านั้นจักชี้แจงประโยชน์โลกนี้และโลกอื่นอย่างนี้ว่า ด้วยกรรมชื่อนี้จะบังเกิดในโลกมนุษย์ ด้วยกรรมนี้จะบังเกิดในเทวโลก ด้วยกรรมนี้จะบังเกิดในนรกเป็นต้น เชิญถามสมณะเหล่านั้นเถิด. 
               ก็แล ครั้นพญายูงกล่าวอย่างนี้แล้ว ขู่ให้กลัวภัยในนรก. 
               ก็เขาเป็นพระปัจเจกโพธิสัตว์ผู้มีบารมีบำเพ็ญเต็มแล้ว มีญาณอันแก่กล้าแล้ว เป็นเหมือนดอกปทุมที่แก่แล้ว ชูก้านรอการถูกต้องของแสงอาทิตย์ฉะนั้น. เมื่อฟังธรรมกถาของพญายูง ยืนอยู่ด้วยท่าเดิมนั้นแหละ กำหนดสังขารทั้งหลาย พิจารณาไตรลักษณ์ บรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้ว. 
               การบรรลุของท่านและการพ้นจากบ่วงของพระมหาสัตว์ ได้มีในขณะเดียวกันแล. พระปัจเจกพุทธเจ้าทำลายกิเลสทั้งหลายแล้ว ดำรงอยู่ ณ สุดแดนของภพทีเดียว เมื่อจะเปล่งอุทาน จึงกล่าวคาถาว่า
               ความเป็นพรานนี้ เราละได้แล้ว เหมือนงูลอกคราบเก่าของตน หรือเหมือนต้นไม้อันเขียวชอุ่มผลัดใบเหลืองทิ้ง ฉะนั้น วันนี้เราละความเป็นพรานได้.
 
               ความแห่งคาถานั้น มีอธิบายว่า งูลอกทิ้งหนังเก่าที่คร่ำคร่า ฉันใด และต้นไม้ที่ยังเขียวชอุ่มอยู่ ผลัดใบเหลืองๆ ที่ติดอยู่แห่งใดแห่งหนึ่งทิ้งเสียได้ ฉันใด แม้เราก็ฉันนั้น สละเสียได้ ซึ่งความเป็นพรานในวันนี้ ทีนี้ความเป็นพรานนั่นนั้นเป็นอัน เราละทิ้งได้แล้ว เราสละความเป็นพรานแล้ว ในวันนี้. บทว่า ชหามหํ ความว่า เราละเสียแล้ว. 
               ครั้นท่านเปล่งอุทานนี้แล้ว ดำริว่า เราพ้นจากเครื่องพัวพัน คือกิเลสทั้งปวงได้แน่นอน แต่ในที่อยู่ของเรา ยังมีนกถูกกักขังอยู่มาก เราจักปลดปล่อยนกเหล่านั้น ได้อย่างไร จึงถามพระมหาสัตว์ว่า พญายูงเอ๋ย ในที่อยู่ของข้าพเจ้า มีนกถูกกักขังอยู่เป็นอันมาก ข้าพเจ้าจักปลดปล่อยนกเหล่านั้น ได้อย่างไรละ. อันที่จริง ญาณในการกำหนดอุบายของพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมใหญ่โตกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า. เหตุนั้น พญายูงจึงกล่าวกะท่านว่า ปัจเจกโพธิญาณที่ท่านทำลายกิเลสทั้งปวงเสีย แล้วบรรลุด้วยโพธิมรรคใด โปรดปรารภโพธิมรรคนั้น กระทำสัจจกิริยาเถิด ธรรมดา สัตว์อันต้องจองจำในชมพูทวีปทั้งสิ้น ก็จักไม่มี. ท่านดำรงในฐานะที่พระโพธิสัตว์กล่าวแล้ว เมื่อจะทำสัจจกิริยา จึงกล่าวคาถาว่า
               อนึ่ง มีนกเหล่าใดที่เรากักขังไว้ในนิเวศน์ ประมาณหลายร้อย วันนี้ เราให้ชีวิตแก่นกเหล่านั้น ขอนกเหล่านั้นจงพ้นจากการกักขัง ไปสู่สถานที่อยู่เดิมของตนเถิด.
 
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โมกฺขญฺจ เต ปตฺโต ความว่า ถ้าเราบรรลุโมกขธรรมแล้ว คือบรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้ว ขอสงเคราะห์สัตว์เหล่านั้น ในอันให้ชีวิตเป็นทาน ด้วยสัจจะนี้. บทว่า สกํ นิเกตํ ความว่า ขอสัตว์แม้ทั้งปวง จงพากันไปสู่ที่อยู่ของตนเถิด. 
               ลำดับนั้น นกทั้งปวงก็พ้นจากที่กักขัง พอดีกันกับเวลาที่ พระปัจเจกโพธินั้นกระทำสัจจกิริยา นั่นเอง ต่างร้องร่าเริง บินไปที่อยู่ของตนทั่วกัน. ก็แล ในขณะนั้น บรรดาสัตว์ในเหย้าเรือนทุกหนแห่ง ตั้งต้นแต่แมว เป็นต้น ในชมพูทวีปทั้งสิ้น ที่จักได้ชื่อว่า สัตว์ต้องกักขัง มิได้มีเลย. พระปัจเจกพุทธเจ้ายกมือลูบศีรษะ. ทันใดนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ก็หายไป เพศบรรพชิตปรากฏแทน. ท่านเป็นเหมือนพระเถระมีพรรษา ๖๐ สมบูรณ์ด้วยมรรยาท ทรงอัฐบริขาร กล่าวว่า ท่านนั้นเทียวได้เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ประคองอัญชลีแก่พญายูง กระทำประทักษิณ เหาะขึ้นอากาศไปสู่เงื้อมผา ชื่อนันทมูล. ฝ่ายพญายูงก็โดดจากปลายคันแร้ว หาอาหาร ไปสู่ที่อยู่ของตนดังเดิม. 
               บัดนี้ พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความที่ นายพรานแม้จะถือบ่วงเที่ยวไปตั้ง ๗ ปี อาศัยพญายูงพ้นจากทุกข์ได้ จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า

               นายพรานถือบ่วงเที่ยวไปในราวป่า เพื่อดักพญานกยูงตัวเรืองยศ ครั้นดักพญานกยูงตัวเรืองยศได้แล้ว ก็ได้พ้นจากทุกข์เหมือนเราพ้นแล้วฉะนั้น.
 

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาเธตุ แปลว่า เพื่อจะดัก บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน อธิบายว่า ครั้นดักพญายูงได้แล้ว ยืนฟังธรรมกถาของพญายูงนั้น ก็ได้ความสลดใจ. 
               บทว่า ยถาหํ ความว่า นายพรานนั้นหลุดพ้นจากทุกข์ได้ เหมือนเราหลุดพ้นได้ด้วยสยัมภูญาณ ฉะนั้นแล. 

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจธรรม
เวลาจบสัจจธรรม ภิกษุผู้กระสันดำรงในพระอรหัต
แล้วทรงประชุมชาดก ว่า
พระปัจเจกพุทธเจ้าในครั้งนั้นปรินิพพาน

                         ส่วนพญายูงได้มาเป็น เราตถาคต แล. 

Cr :  http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1961

Cr: https://www.youtube.com/watch?v=SUkdq78sv6I&t=507s


วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปิดไฟฟังนิทาน สุนัขจิ้งจอกไม่เจียมตน





วิโรจนชาดก เรื่อง สุนัขจิ้งจอกไม่เจียมตัว

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ทรงปรารภพระเทวทัต ผู้แสดงท่าทางอย่างพระองค์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...



               กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์ อาศัยอยู่ในถ้ำทอง ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่ง ออกจากถ้ำทอง ไปหาอาหาร ได้กระบือใหญ่ ตัวหนึ่ง กินเนื้อแล้ว ไปดื่มน้ำที่สระแห่งหนึ่ง ในขณะที่เดินกลับถ้ำ ได้พบสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งในระหว่างทาง สุนัขจิ้งจอกจึงขออาสาเป็นผู้รับใช้ราชสีห์ด้วยความกลัวตาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสุนัขจิ้งจอกก็ได้กินเนื้อเดนราชสีห์อย่างอิ่มหนำสำราญ มันมีหน้าที่ขึ้นยอดเขาไปดูสัตว์ที่จะเป็นอาหาร แล้วกลับลงมาบอกพระยาราชสีห์ว่า " ข้าพเจ้า อยากกินเนื้ออย่างโน้น นายท่าน จงแผดเสียงเถิด " พระยาราชสีห์ก็จะไปจับสัตว์ตัวนั้นมาเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อนานาชนิดหรือแม้กระทั่งช้าง



              ครั้นเวลาผ่านไปหลายปี สุนัขจิ้งจอก ชักกำเริบเกิดความคิดว่า " แม้ตัวเรา ก็เป็นสัตว์ มี ๔ เท้าเหมือนกัน เหตุใด จะให้ผู้อื่นเลี้ยงอยู่ทุกวันเล่า นับแต่นี้เป็นต้นไป เราจะฆ่าช้างเป็นอาหารกินเนื้อเอง แม้แต่ ราชสีห์ก็เพราะอาศัยเราบอกว่านายขอรับ เชิญท่านแผดเสียงเถิด เท่านั้น ก็จึงฆ่าสัตว์ต่างๆได้ ต่อแต่นี้ เราจะให้ราชสีห์พูดกับเราบ้าง " ได้เข้าไปหาราชสีห์แล้วบอกเรื่องนั้น



            แม้ถูกพระยาราชสีห์พูดเยาะเย้ยว่า " เป็นไปไม่ได้ " ก็ตามคงเซ้าซี้อยู่นั่นเอง พระราชสีห์เมื่อไม่อาจห้ามมันได้ ก็รับคำให้สุนัขจิ้งจอกนอนในที่นอนของตน แล้วไปคอยดูช้างตกมันที่เชิงเขาพบแล้ว ก็กลับเข้ามาบอกสุนัขจิ้งจอกว่า " จิ้งจอกเอ๋ย เชิญแผดเสียงเถิด "



             สุนัขจิ้งจอก ออกจากถ้ำทอง สลัดกาย มองทิศทั้ง ๔ หอนขึ้นสามคาบ วิ่งกระโดดเข้างับช้างหวังที่ก้านคอช้าง กลับพลาดไปตกที่ใกล้เท้าช้าง ช้างจึงยกเท้าขวาขึ้นไปเหยียบหัวจิ้งจอก จนหัวกะโหลกแตกเป็นจุน แล้วเอาเท้าคลึงร่างของมันทำเป็นกองไว้แล้วเยี่ยวรดข้างบน ร้องกัมปนาทเข้าป่าไป

Cr : http://www.intaram.org/index.php?lay=show&ac=article&Id=539158232&Ntype=34

Cr : https://www.youtube.com/watch?v=VWiODzyEejk

ปิดไฟฟังนิทาน พญาช้างยอดกตัญญู





มาตุโปสกชาดก เรื่อง พญาช้างยอดกตัญญู

 ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ลี้ยงมารดารูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...



          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างเผือกขาวปลอด มีรูปร่างสวยงาม มีช้าง ๘๐,๐๐๐ เชือกเป็นบริวารเลี้ยงดูมารดาตาบอดอยู่ เมื่อพาบริวารออกหากินได้อาหารอันมีรสอร่อยแล้วก็จะส่งกลับมาให้มารดากิน แต่ก็ถูกช้างเชือกที่นำอาหารมากินเสียระหว่างทาง เมื่อกลับมาทราบว่ามารดาไม่ได้อาหารก็คิดจะละจากโขลงเพื่อเลี้ยงดูมารดาเท่านั้น ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืนก็แอบนำมารดาหนีออกจากโขลงไปอยู่ที่เชิงเขาแล้วพักมารดาไว้ที่ถ้ำแห่งหนึ่ง ส่วนตนเองออกเที่ยวหาอาหารมาเลี้ยงดูมารดา



          อยู่ต่อมาวันหนึ่ง มีพรานป่าชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งเข้าป่ามาแล้วหลงทางออกจากป่าไม่ได้จึงนั่งร้องไห้อยู่ พญาช้างพอได้ยินเสียงคนร้องไห้ด้วยความเมตตากรุณาในเขา จึงนำเขาออกจากป่าไปส่งที่ชายแดนมนุษย์ ฝ่ายนายพรานเมื่อพบช้างที่สวยงามเช่นนั้น ก็คิดชั่วร้าย "ถ้าเรานำความกราบทูลพระราชา เราจักได้ทรัพย์มากเป็นแน่แท้" ขณะอยู่บนหลังช้างได้หักกิ่งไม้่กำหนดไว้เป็นสัญลักษณ์



          ในสมัยนั้น ช้างมงคลของพระราชาได้ตายลง พระราชาจึงมีรับสั่งให้ตีกลองร้องประกาศว่าใครมีช้างที่สวยงามขอให้บอก นายพรานนั้นได้โอกาสจึงรับสั้งให้นายควญช้างพร้อมด้วยบริวารติดตามนายพรานนั้นเข้าป่านำพญาช้างนั้นมาถวาย



          นายควาญช้างเมื่อพบพญาช้างแล้วก็ถูกใจ ส่วนพญาช้างขณะนั้นกำลังดื่มน้ำอยู่ในสระ เมื่อเห็นนายพรานนั้นกลับมาพร้อมผู้คนอีกจำนวนมากก็ทราบถึงภัยมาถึงตัวแล้ว จึงกำหนดสติข่มความโกรธไว้ในใจยืนนิ่งอยู่ นายควาญช้างได้นำพญาช้างเข้าไปในเมือง พาราณสี ฝ่ายช้างมารดาของพญาช้าง เมื่อไม่เห็นลูกมาจึงคร่ำครวญคิดถึงลูกว่า "ลูกเราสงสัยถูกพระราชาหรือมหาอำมาตย์จับไปแล้วหนอ เมื่อไม่มีพญาช้างอยู่ ไม้อ้อยช้าง ไม้มูกมัน ไม้ช้างน้าว หญ้างวงช้าง ข้าวฟ่าง และลูกเดือย จักเจริญงอกงาม"



          ฝ่ายนายควาญช้างในระหว่างทางขณะกลับเข้าเมืองได้ส่งสาส์นไปถึงพระราชาเพื่อตบแต่งเมืองให้สวยงาม เมื่อถึงเมืองแล้วก็ประพรมน้ำหอมพญาช้าง ประดับเครื่องทรงแล้วนำไปไว้ที่โรงช้างขึ้นกราบทูลพระราชา



          พระราชาทรงนำอาหารอันมีรสเลิศต่าง ๆ มาให้พญาช้างด้วยพระองค์เอง พญาช้างคิดถึงมารดาจึงไม่กินอาหารนั้น พระองค์จึงอ้อนวอนมันว่า "พญาช้างตัวประเสริฐเอ๋ย เชิญพ่อรับคำข้าวเถิดเจ้ามีภารกิจมากมายที่ต้องทำ"

          พญาช้างพูดลอย ๆ ขึ้นว่า "นางช้างผู้กำพร้า ตาบอดไม่มีผู้นำทาง คงสะดุดตอไม้ล้มลงตรงภูเขาเป็นแน่"

          พระราชาตรัสถามว่า "พญาช้าง… นางช้างนั้นเป็นอะไรกับท่านหรือ"

          พญาช้าง "นางเป็นมารดาของข้าพระองค์เอง"

          พระราชาเมื่อฟังแล้วเกิดความสลดใจมีรับสั่งให้ปล่อยพญาช้างว่า "พญาช้างนี้เลี้ยงดูมารดาตาบอดอยู่ในป่า ท่านทั้งหลายปล่อยมันกลับไปเถิด"



          พญาช้างเมื่อถูกปล่อยให้อิสระพักอยู่หน่อยหนึ่งแล้วแสดงธรรมต่อพระราชาว่า "มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงอย่าเป็นผู้ประมาทเถิด" แล้วได้กลับไปยังที่อยู่ของตน ได้นำน้ำในสระไปรดตัวมารดาที่นอนร่างกายผ่ายผอมเพราะไม่ได้อาหารมาแลัว ๗ วัน เป็นอันดับแรก



          ฝ่ายช้างมารดาเมื่อถูกน้ำราดตัวเข้าใจว่าฝนตกจึงพูดขึ้นว่า "ฝนอะไรนี่ตกไม่เป็นฤดู ลูกเราไม่อยู่เสียแล้ว"

          พญาช้างจึงพูดปลอบใจมารดาว่า "แม่.. เชิญลุกขึ้นเถิดลูกของแม่มาแล้ว พระราชาผู้ทรงธรรมให้ปล่อยมาแล้วละ"

          นางช้างดีใจมากได้อนุโมทนาแก่พระราชาว่า "ขอให้พระองค์ทรงพระชนม์ยืนนาน เจริญรุ่งเรืองเถิดที่ได้ปล่อยลูกของข้าพระองค์คืนมา"



          ฝ่ายพระราชาทรงเลื่อมใสในพญาช้าง จึงมีรับสั่งให้ตั้งอาหารไว้เพื่อพญาช้างและมารดาเป็นประจำ ตั้งแต่วันที่ปล่อยพญาช้างไปและรับสั่งให้สร้างรูปเหมือนพญาช้างจัดงานฉลองช้างขึ้นเป็นประจำทุกปี พญาช้างเมื่อมารดาเสียชีวิตแล้วก็ได้อยู่อุปัฏฐากคณะฤๅษี ๕๐๐ ตน จนตราบเท่าชีวิต

Cr : http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt23.php

Cr : https://www.youtube.com/watch?v=XpyM1EhsB2Y&t=77s