อรรถกถา อาวาริยชาดก
ว่าด้วย การกระทำที่ไม่เจริญด้วยโภคะ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภติตถนาวิก คนแจวเรือประจำท่าคนหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า มาสุ กุชฺฌ ภูมิปติ ดังนี้.
ได้ยินว่า เขาเป็นคนโง่ไม่รู้อะไร ไม่รู้คุณของพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเลย ไม่รู้คุณของบุคคลอื่นๆ ด้วยเป็นคนดุร้าย หยาบคาย ผลุนผลันพลันแล่น.
ภายหลัง ภิกษุชาวชนบทรูปหนึ่งมาด้วยความตั้งใจว่า เราจักทำการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ถึงท่าน้ำแม่น้ำอจิรวดี ได้พูดกับนายติตถวานิกอย่างนี้ว่า
ดูก่อนอุบาสก อาตมาจักข้ามฟาก ขอโยมจงให้เรืออาตมภาพเถิด.
นายติตถวานิกตอบว่า
ท่านครับ บัดนี้นอกเวลาแล้ว ขอให้ท่านอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งในที่นี้.
ภิ. ดูก่อนอุบาสก อาตมาจักอยู่ที่ไหนในที่นี้ ขอจงรับอาตมาไปส่งเถิด.
เขาโกรธพูดว่า มาที่นี่โว้ยสมณะ เราจะนำไปส่ง แล้วได้ให้พระเถระลงเรือ ไม่ตรงไปส่ง แต่พายเรือไปข้างล่าง ทำให้เรือโคลง บาตรและจีวรของท่านเปียกน้ำไปถึงฝั่งโดยลำบาก ส่งขึ้นฝั่งเวลามืดค่ำ.
ต่อมา ท่านได้ไปถึงวิหาร วันนั้นไม่ได้โอกาสอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า รุ่งขึ้นจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง เป็นผู้ที่พระศาสดาทรงทำการปฏิสันถารแล้ว เมื่อถูกพระศาสดาตรัสถามว่า เธอมาถึงเมื่อไร? ทูลว่า เมื่อวานนี้พระเจ้าข้า เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า เหตุไฉน จึงมาที่อุปัฏฐากในวันนี้? ได้กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ.
พระศาสดา ครั้นทรงสดับเรื่องนั้นแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ไม่ใช่เพียงบัดนี้เท่านั้น ถึงในชาติก่อน นายคนนี้ก็ดุร้าย หยาบคายเหมือนกัน. อนึ่ง เขาไม่ใช่ให้เธอลำบาก แต่ในชาติปัจจุบันนี้ แม้ในชาติก่อน ก็ทำให้บัณฑิตลำบากมาแล้ว ถูกภิกษุนั้นทูลอ้อนวอน จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์กำเนิดในสกุลพราหมณ์เจริญวัยแล้ว ได้เรียนศิลปศาสตร์ทุกอย่างที่ตักกสิลา แล้วบวชเป็นฤๅษี เลี้ยงอัตภาพด้วยผลไม้น้อยใหญ่ ในป่าหิมพานต์เป็นเวลาช้านาน เพื่อต้องการลิ้มรสเค็มและรสเปรี้ยว จึงไปเมืองพาราณสี พักอยู่ที่พระราชอุทยาน
รุ่งขึ้นจึงเข้าไปสู่พระนครเพื่อภิกษา. ครั้งนั้น พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นท่านมาถึงพระลานหลวง เลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน จึงทรงนำเข้าไปภายในเมืองให้ฉันเสร็จ ทรงรับปฏิญญาแล้วให้ท่านอยู่ในพระราชอุทยาน ได้เสด็จไปยังที่อุปัฏฐากวันละครั้ง.
พระโพธิสัตว์ เมื่อทูลถวายโอวาทพระราชานั้นทุกวันว่า ขอถวายพระพรมหาราช ธรรมดาพระราชาควรเว้นการลุอำนาจอคติทั้ง ๔ เป็นผู้ไม่ประมาท สมบูรณ์ด้วยพระขันติ พระเมตตาและพระกรุณาธรรม ครองราชสมบัติโดยธรรม
จึงถวายพระพรคาถา ๒ คาถา ว่า :-
ข้าแต่มหาบพิตรผู้ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขอมหาบพิตรอย่าทรงพิโรธเลย ข้าแต่มหาบพิตรผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระราชาผู้ไม่ทรงพิโรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว ประชาชนของรัฐ ราษฎรบูชาแล้ว.
อาตมภาพขอถวายอนุศาสน์ในที่ทุกสถาน จะเป็นในบ้าน ในป่า หรือที่ดอนที่ลุ่มก็ตาม ข้าแต่มหาบพิตรผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รฏฺฐสฺส ปูชิโต มีเนื้อความว่า พระราชาแบบนี้ เป็นผู้ที่ประชาชนของรัฐบูชาแล้ว.
บทว่า สพฺพตฺถมนุสาสามิ ความว่า ข้าแต่มหาราช อาตมภาพ เมื่ออยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง บรรดาบ้านเป็นต้นเหล่านี้ ก็จะถวายอนุศาสน์พระองค์ ด้วยข้ออนุศาสน์ข้อนี้นั่นแหละ คือว่า จะถวายอนุศาสน์ในที่ใดที่หนึ่ง บรรดาบ้านเป็นต้นเหล่านี้ จะเป็นที่บ้านหลังเดียวก็ตาม สัตวโลกตัวเดียวก็ตาม,
บทว่า มาสุ กุชฺฌ รเถสภ ความว่า อาตมภาพถวายอนุศาสน์พระองค์อยู่อย่างนี้นั่นแหละ ธรรมดาพระราชาไม่ควรจะพิโรธ. เหตุไร? เพราะว่าธรรมดาพระราชาทั้งหลายมีพระบรมราชโองการเป็นอาวุธ คนมากมายถึงความสิ้นชีวิตด้วยเหตุเพียงพระบรมราชโองการของพระราชาเหล่านั้น ผู้ทรงพิโรธแล้ว เท่านั้น.
Cr :http://www.84000.org/tipitaka/attha/jataka.php?i=270831
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น