วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

การทำหนังสั้น (short film)




การผลิตภาพยนตร์สั้น (Short Narrative)

ปัจจุบันสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยจัดการเรียนการสอนเปิดสาขาภาพยนตร์กันมาก ในระหว่างเรียนและเมื่อจบออกไปทำงาน นักศึกษาและบัณฑิตเหล่านั้นได้ผลิตภาพยนตร์สั้นหลายเรื่อง แล้วส่งไปประกวดตามเทศกาลภาพยนตร์กันมากมาย มีผู้ชนะประกวดใช้สนามเหล่านี้แนะนำศักยภาพของตนเพื่อเข้าสู่วงการอาชีพ เมื่อก่อนภาพยนตร์สั้นหาดูยากมักมีฉายตามศูนย์วัฒนธรรม หรือหอศิลป์ปัจจุบัน บ้านเราจัด film festival บ่อยๆ ภาพยนตร์สั้นก็สามารถหาดูได้ง่ายขึ้น

ความหมายของคำว่า "ภาพยนตร์สั้น"

ไม่มีคำจำกัดความของคำว่า "ภาพยนตร์สั้น" (short narrative หรือ short film) ที่แน่ชัดว่าคืออะไร แต่อนุโลมกันว่าถ้าภาพยนตร์นั้นมีความยาวต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง ถือว่าเป็นภาพยนตร์สั้นทั้งสิ้น เช่น ภาพยนตร์สั้นๆ (short narrative หรือ short film) ภาพยนตร์สารคดี (documentary film) ภาพยนตร์กึ่งสารคดี (docu-drama) ภาพยนตร์การ์ตูน (animation) ภาพยนตร์ศิลปะ (art film) ภาพยนตร์ทดลอง (experimental film) ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา (educational film) ภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ (television commercial) ฯลฯ ศิลปะภาพเคลื่อนไหว (motion graphic) มิวสิควิดีโอฯลฯ แต่ในที่นี้ ส่วนใหญ่จะพูดถึงภาพยนตร์ศิลปะและภาพยนตร์เรื่องสั้นๆ

จุดเด่นของภาพยนตร์สั้นนั้นก็คือ จะมีอิสระในการแสดงออกทั้งเนื้อหาจะวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ศาสนา วัฒนธรรม หรือสังคมอย่างรุนแรงก็ได้ เนื่องจากภาพยนตร์สั้นมักจะฉายชมกันเฉพาะกลุ่ม ส่วนรูปแบบจะวิจิตรพิสดารอย่างไรก็ได้ ดูเข้าใจยากก็ได้เข้าใจง่ายก็ได้ ซึ่งต่างจากภาพยนตร์เรื่องยาวที่จะต้องดูเข้าใจง่าย เป็นเรื่องราวที่น่าติดตามและใช้ดารามีชื่อแสดงนำ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดไม่มีฉากอันไม่เหมาะสมที่ทำให้ถูกเซนเซอร์ ภาพยนตร์สั้นที่มีอิสระในการแสดงออกนี่เอง จึงเป็นภาพยนตร์ที่เป็นที่นิยมของคนรักศิลปะโดยทั่วไป

ข้อสังเกตที่เด่นชัดอีกอย่างหนึ่งของภาพยนตร์สั้นนั้นก็คือ มักจะมีประเด็นนำเสนอไม่สลับซับซ้อน มีตัวละครหลักเพียง 1-2 ตัว มีตัวประกอบไม่มาก ภาพยนตร์สั้นมักลงทุนไม่สูงนัก เนื่องจากไม่ได้ทำเพื่อฉายตามโรงภาพยนตร์ สำหรับในต่างประเทศที่วงการศิลปะเจริญกว่าเมืองไทย จะมีช่องทางนำเสนอผลงานหลาย เช่น พิพิธภัณฑ์ เทศกาลภาพยนตร์ โรงเรียนภาพยนตร์ หอศิลป ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ บางครั้งจำหน่ายได้ด้วย เช่น ขายให้หอสมุด และหอศิลป์ ที่ซื้อภาพยนตร์ประเภทนี้สะสมไว้ สำหรับประเทศไทยโอกาสในการแสดงฝีมือและความคิดยังไม่แพร่หลายนัก ส่วนใหญ่จะทำกันเองดูในกลุ่มผู้สนใจกัน แต่อย่างไรก็ตามระยะหลังๆ มีการจัดประกวดภาพยนตร์สั้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลงานของนักศึกษาหรือบัณฑิตที่จบไปแล้ว เพื่อเผยแพร่ผลงานเหล่านั้น

บุคลากรสำคัญสำหรับภาพยนตร์สั้น


บุคลากรที่จะเป็นบุคคลสำคัญที่ผลิตภาพยนตร์สั้นมีอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ ผู้จัดการสร้าง (Producer) และผู้กำกับภาพยนตร์ (Director)
ผู้จัดการสร้าง (Producer) คือ ผู้ที่ทำงานบริหารงานภาพยนตร์ งานส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปด้านวางแผนจัดการประสานงานควบคุมการผลิต และนำภาพยนตร์ออกฉาย ขั้นตอนการทำงานของผุ้จัดการสร้าง มีดังนี้

1.1 คิดโครงการ
1.2 เสนอโครงการต่อแหล่งทุน
1.3 จัดหาทีมงาน
1.4 จัดหาและคัดเลือกผู้แสดง
1.5 ควบคุมการผลิต
1.6 ประสานงานการประชาสัมพันธ์
1.7 นำภาพยนตร์ออกฉาย

1.1 คิดโครงการ ผู้จัดการสร้างจะคิดโครงการ หรือออกแบบโครงการภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ ชีวิตเด็กข้างถนน แท็กซี่เก็บเงินล้านได้ สาวประเภทสอง ผู้จัดการสร้างจะต้องคำนึงว่าหัวข้อที่คิดขึ้นนั้นว่า จะได้ผลหรือไม่ กล่าวคือ น่าสนใจมีความเป็นไปที่จะมีผู้สนับสนุน โดยโครงการนั้นจะประกอบไปด้วยแนวคิด เรื่องย่อ รายชื่อผู้แสดง รายชื่อทีมงาน แผนการทำงาน

1.2 เสนอโครงการต่อแหล่งทุน ผู้ดำเนินการสร้างจะนำโครงการติดต่อหาผู้สนับสนุน อาจจะเป็นองค์กรการกุศล หอศิลปะ ผู้มีฐานะทางการเงินดีที่เห็นด้วยกับโครงการ การรวบรวมเงินจำนวนคนละเล็กน้อยจากเพื่อนฝูงพี่น้อง รวมถึงการขอใช้กล้องฟรี ขอฟิล์มฟรี ขอใช้บริการห้องแล็ปฟรี ดังนี้เป็นต้น

1.3 จัดหาทีมงาน ผู้ดำเนินการสร้างจะจัดทีมงาน เช่น ผู้ถ่ายภาพ ผู้แต่งหน้า ทำผม ฝ่ายจัดฉาก ผู้ช่วยผู้กำกับ ฯลฯ

1.4 จัดหาผู้แสดง เมื่อได้แนวความคิดเกี่ยวกับบุคลิกนักแสดงที่ชัดเจนแล้ว ผู้จัดการสร้างจะสรรหาผู้แสดง โดยเสาะหา คัดเลือก ติดต่อ ทาบทาม ทำสัญญาว่าจ้าง (ส่วนบุคลิกตัวละคร ความสามารถในการแสดง ผู้กำกับจะเป็นผู้พิจารณาโดยผู้จัดการสร้างร่วมตัดสินใจ)

1.5 ควบคุมการผลิต ผู้จัดการสร้างจะต้องควบคุมการผลิตให้ได้ผลงานที่ดี โดยใช้จ่ายไม่เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ ต้องบริหารเงินให้มีค่าประสิทธิผล อำนวยความสะดวกให้ผู้กำกับ ผู้แสดง ช่างภาพ และทีมงานอื่นๆ ให้สร้างสรรค์งานได้อย่างสบายใจ จะต้องชั่งน้ำหนัก จัดสรรเงินให้ดีไม่บีบ่ไม่บีบคั้นทีมงานหรือหละหลวมเกินไป การควบคุมการผลิตอยู่ระหว่างกลางของการจัดวางงบประมาณและการสร้างสรรค์

1.6 การประสานงานประชาสัมพันธ์ เมื่อผลิตภาพยนตร์เสร็จแล้ว ก็นำภาพยนตร์ออกฉายผู้จัดการสร้างจะต้องวางแนวคิดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จัดทำโปสเตอร์ เขียนข่าวติดต่อกับคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์เพื่อให้ลงข่าว จัดทำสูจิบัตรและบัตรเชิญ

1.7 จัดนำภาพยนตร์ออกฉาย ผู้จัดการสร้างจะต้องจัดหาสถานที่นำภาพยนตร์ออกฉาย อาจจะใช้หอศิลปหรือส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ในงานมหกรรมภาพยนตร์ต่างๆ ตามแต่โอกาสจะอำนวย ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ผลงานและหาผู้สนับสนุนในการสร้างเรื่องต่อไป ซึ่งหากโชคดีอาจจะเข้าตาผู้บริหารค่ายภาพยนตร์ใหญ่ๆ ที่ชวนไปทำภาพยนตร์เรื่องยาว

ผู้กำกับภาพยนตร์ (Director) คือ ตำแหน่งที่จะสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ให้มีคุณภาพ และบรรลุเป้าหมายงานของผู้กำกับภาพยนตร์มีดังนี้

2.1 ตีความบทภาพยนตร์
2.2 กำหนดรูปแบบของภาพยนตร์
2.3 สร้างคุณค่าทางศิลปะแก่งานภาพยนตร์
2.4 ควบคุมขั้นตอนหลังการถ่ายทำ (post-production)

2.1 ตีความบทภาพยนตร์ เมื่อได้บทภาพยนตร์มาแล้วผู้กำกับมีหน้าที่ตีความบทภาพยนตร์ว่า ถ้าออกมาเป็นภาพยนตร์แล้วจะเป็นอย่างไร ตรงไหนจะเพิ่มตรงไหนจะลด ตรงไหนปรับปรุงแก้ไข เข้าใจความหมายของผู้เขียนบทว่าแต่ละฉากจะเสนออะไร ภาพยนตร์ทั้งเรื่องเสนออะไร

2.2 กำหนดรูปแบบของภาพยนตร์ ผู้กำกับเป็นผู้กำหนดหน้าตา (look) ของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ว่าจะมีรูปแบบอย่างไร เช่น เป็นแบบฝันๆ แบบน่ากลัว แบบจริงจัง ฉูดฉาดหรือเรียบง่าย สิ่งเหล่านี้บางทีคิดโดย
ก. คิดถึงกลุ่มเป้าหมายที่จะชม
ข. ตามแนวของเรื่อง
ค. ตามลักษณะเฉพาะตัวของผู้กำกับ

2.3 สร้างคุณค่าทางศิลปะ ผู้กำกับเป็นผู้ที่จะต้องผสมผสานส่วนประกอบต่างๆ ของภาพยนตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้ภาพยนตร์มีความงดงาม เช่น การจัดภาพ การจัดแสง ผู้แสดง บทบาท ผู้แสดงวางจังหวะลีลาให้มีคุณค่าทางศิลปะ

2.4 ควบคุมขั้นตอนหลังการถ่ายทำ (post-production) ผู้กำกับภาพยนตร์จะต้องควบคุมงานขั้นตอนหลังการถ่ายทำ ซึ่งมีการตัดต่อลำดับภาพ การบันทึกเสียง การทำภาพพิเศษ การกำหนดโครงสีและการทำไตเติ้ล ผู้กำกับภาพยนตร์จะต้องควบคุมดูแลในแง่ศิลปะต่างๆ เพื่อให้ผลงานนั้นสมบูรณ์ที่สุด

การหาสถานที่ถ่ายทำ (Location)

การหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์มีขั้นตอนดังนี้
แยกงานสถานที่จากบทและรวมกลุ่มสถานที่ การเริ่มหาสถานที่ให้นำบทมาอ่านแล้วลำดับรายชื่อสถานที่เกิดขึ้นในบท จากนั้นก็มารวมกลุ่มกันโดยคำนึงถึงกลุ่มสถานที่ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน เพื่อความสะดวก เช่น ฉากทะเล ภูเขา หมู่บ้าน ชาวประมง ร้านอาหารริมทะเล หรือบ้านไม้ ซอยแคบ ถนนลูกรัง หรือโรงภาพยนตร์ ซุปเปอร์มาเกต ร้านไอศกรีม ฯลฯ
ติดต่อสอบถาม เมื่อได้รายชื่อสถานที่แล้ว ให้ติดต่อสอบถามแหล่งต่างๆ เช่น จากเพื่อน ผู้ช่วยผู้กำกับกองถ่ายอื่น เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ตามสถานที่ต่างๆ ดูจากนิตยสารการท่องเที่ยว โปสการ์ด แผ่นพับ เพื่อให้ได้ข้อมูลขั้นต้น ไม่ใช่ออกหาสถานที่เลย เพราะจะประหยัดเวลา ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหารได้มาก
บริหารการเดินทาง การออกหาสถานที่ถ่ายทำ หากเช่ารถแล้วควรเริ่มออกแต่เช้าตรู่ บุคคลที่ไปหาไม่ควรเกิน 2 คน คือ ฝ่ายธุรกิจหนึ่ง และผู้ช่วยฝ่ายศิลป์หนึ่ง ฝ่ายธุรกิจดูแลการจัดการ เช่น ระยะทาง ค่าเช่าที่พัก การติดต่อขออนุมัติ ส่วนฝ่ายศิลปะดูความสวยงามทางศิลปะที่สอดคล้องกับบท ใช้กล้องและฟิล์มราคาถูกถ่ายภาพมุมต่างๆ ที่เห็นเหมาะ บางสถานที่ขอภาพถ่ายที่เขามีอยู่แล้ว หรือขอแผ่นพับโฆษณาก็ได้ ในขณะเดียวกันร่างแผนที่และแผนผังพื้นที่มาด้วย
นำภาพถ่ายเข้าที่ประชุม นำภาพถ่ายแผ่นพับ แผนผัง และข้อมูลที่ได้มาเพื่อเข้าที่ประชุมและคัดเลือก
ดูสถานที่จริง เมื่อคัดเลือกสถานที่ขั้นต้นได้แล้ว ขั้นต่อไปผู้กำกับ ผู้กำกับภาพ และผู้กำกับฝ่ายศิลป์ จะเดินทางไปดูสถานที่จริง จะเพิ่มเติมดัดแปลงอะไร จะวางกล้องตรงไหนจะได้ปรึกษากับตอนนี้ เบอร์โทรศัพท์ แผนที่ วันเวลาเปิดปิด เงื่อนไขการเข้าสถานที่ก็ยืนยันความแน่นอนตอนนี้
ข้อควรคำนึงในการหาสถานที่ถ่ายทำ

สถานที่ถ่ายทำที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการ คือมีความเหมาะสมในแง่การจัดการ และมีคุณค่าทางศิลปะ ความเหมาะสมในการจัดการ ก็คือ
ใกล้ที่ทำงาน ถ้าเป็นได้สถานที่นั้นไม่ควรไกลจากที่ทำงาน เพื่อความสะดวกหากลืมสิ่งของที่จำเป็นจะประหยัดค่าเดินทาง
มีความหลากหลาย สถานที่นั้นหากไปที่เดียวแล้วถ่ายได้หลายฉาก จะเป็นสถานที่ถ่ายทำที่ดีมาก เราจะไม่ต้องเคลื่อนย้ายกองถ่ายบ่อยๆ เช่น ไปหมู่บ้านจัดสรรก็จะได้ร้านค้า บ้าน สวนสาธารณะ โรงเรียนอนุบาล สนามเด็กเล่น สนามกอล์ฟ คลับ ห้องอาหาร สระว่ายน้ำ ถนนในหมู่บ้าน ฯลฯ จะมีความสะดวกในการถ่ายทำ เวลาจะย้ายกองถ่ายก็ย้ายกองถ่ายใกล้ๆ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้มาก
มีความสะดวกในการถ่ายทำ คือ มีโทรศัพท์ติดต่อ มีที่จอดรถสะดวก ห้องน้ำมีหลายห้อง มีพื้นที่ว่างสำหรับแต่งกายและแต่งหน้า มีความสูงของเพดานสำหรับติดตั้งดวงไฟ มีพื้นที่สำหรับเก็บพักอุปกรณ์ถ่ายทำ มีพื้นที่สำหรับจัดส่วนรับประทานอาหารของกองถ่าย ไม่มีเจ้าถิ่นที่คอยรบกวน
ราคาไม่แพง สถานที่ควรเก็บค่าเช่าไม่แพงนัก หากไม่เสียเลยได้ยิ่งดี เพียงแต่เสียค่าแม่บ้านทำความสะอาด หรือช่วยค่าน้ำค่าไฟบ้างเท่านั้น เช่น บ้านเพื่อน หน่วยราชการ สถานที่เพื่อการกุศล สถานที่ทำการบริการ หากแลกเปลี่ยนกับการขึ้นไตเติลให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย การหาสถานที่ที่ขายบริการ เช่น ร้านอาหาร ไนท์คลับ โรงแรม สวนสนุก ควรหาที่ที่เปิดกิจกรรมใหม่ๆ จะไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะกิจการเหล่านั้นจะอยู่ในช่วงประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย
ไม่มีสิ่งที่จะเสียหายง่าย ควรหาสถานที่ถ่ายทำที่จะเสี่ยงต่อการชดใช้ของเสียหายน้อยที่สุด เช่น สถานที่ที่มีของราคาแพง เช่น พรม เครื่องลายคราม เครื่องแก้ว ไม้ประดับราคาสูง เพราะหากหาย หรือเสียหายขึ้นมาจะยุ่งยากต่อการชดใช้
เงียบสงบ ไม่มีเสียงรบกวนใดๆ ที่จะทำให้บันทึกเสียงไม่ได้ เช่น สถานที่มีเสียงเครื่องจักร เสียงอู่ซ่อมจักรยานยนต์ เสียงเด็กอ่อน บ้านที่เลี้ยงสุนัข ถนนที่มีรถเสียงดังวิ่งผ่าน โครงการก่อสร้าง ฯลฯ
มีความสะดวกในการจัดฉาก การจัดฉากภาพยนตร์ไม่เหมือนละครเวที มีการเปลี่ยนแปลงทุกวินาทีแล้วแต่สถานการณ์ บางครั้งต้องย้ายมุมกล้อง หรือผู้กำกับนึกภาพออกมาอย่างกระทันหัน สถานที่ที่ดีควรจะมีอุปกรณ์ประกอบฉากอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ที่จะหยิบยืม นำมาจัดฉากได้ง่าย เช่น โต๊ะ ต้นไม้ กระถาง รูปภาพ แจกัน เครื่องเรือนชุดสนามที่สามารถยกมาจัดแต่งเพิ่มเติมได้ทันที

ความเหมาะสมในแง่ศิลปะ คือ
ถูกต้องตามข้อเท็จจริง สถานที่นั้นจะต้องสมจริงตรงตามบท ไม่มีจุดอ่อนที่จะจับผิดได้ สอดคล้องกับรูปแบบ และยุคสมัยตามท้องเรื่องได้บรรยากาศและความรู้สึก สถานที่จะต้องมีบรรยากาศ มีโครงสีให้ความรู้สึกที่ดี เช่น ในบทบอกว่าชาวนากำลังมีความรัก ก็จะเป็นท้องนาเหลืองอร่าม น้ำเปี่ยมคลอง หรือในบทบอกว่านางเอกเดินเศร้าคิดถึงพระเอก ก็ควรจะเป็นฉากที่พื้นสีเทา (ลานดิน ลานซีเมนต์) มีเสาไฟฟ้าโดดเดี่ยว หรือมีต้นไม้แห้งใบโกร๋น หรือนางเอกอยู่ในภาวะอันตราย เช่น ทางเดินในซอกตึกแคบๆ ที่ผนังตึกบีบทำให้รู้สึกอึดอัด ดังนี้เป็นต้น โครงสีของสถานที่มีส่วนสร้างอารมณ์ความรู้สึกได้มาก สถานที่ที่มีโครงสีโทนใดโทนหนึ่ง เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ประกอบฉากก็จะต้องออกแบบสีให้มีศิลปะ เช่น นางเอกไปวัดผ่านทุ่งนาสีเขียวเหลือง เครื่องแต่งกายและร่ม อาจจะเป็นสีแดงสดใส เป็นต้น การออกแบบสีจะทำให้ภาพมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะโครงสีที่ให้อารมณ์เด่นชัด เช่น เทา ม่วง ให้อารมณ์เหงา , ชมพู เหลือง ฟ้า ให้อารมณ์สดใส
มีพื้นที่และหลืบสลับซับซ้อน สถานที่ถ่ายทำไม่ควรจะมีฉากหลังแบนที่ดูแล้วทึบตัน เช่น ถนน ตรอก ซอย ควรจะลึกสุดสายตา มุมตึกควรจะมีหลืบและซอกต่างๆ เพราะเมื่อจัดแสง ภาพจะเกิดน้ำหนักสวยงาม อีกทั้งระยะลึกจะทำให้เห็นมีสิ่งต่างๆ หลากหลาย เช่น ฉากตรอกซอยลึก เราจะได้ร้านค้า รถตุ๊กตุ๊ก กองขยะ ลังไม้ รถเข็น เด็กเล่นแบดมินตัน ซึ่งจะทำให้ภาพดูมีชีวิตชีวา
มีความหมายเชิงนัยนะ การหาสถานที่ถ่ายทำในบางครั้ง อาจจะหาสถานที่ที่มีความหมายเชิงนัยยะ หมายถึง สถานที่มีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นนัยของความรู้สึก เช่น โบสถ์ที่มีเงาไม้กางเขนทาบลงบนพื้น แล้วเราใช้สถานที่นั้นในฉากที่ตัวละครตายแล้วมีเงาพาดผ่าน ทุ่งดอกไม้สีชมพู เมื่อพระเอกนางเอกพบรักกัน หรือหน้าผาสูงที่ตัวละครทะเลาะกัน จะเกิดความรู้สึกหมิ่นเหม่เหมือนจะตกหน้าผา ได้ความรู้สึกของความสัมพันธ์ขาดสะบั้นลง หรือฉากที่มีพื้นกระเบื้องยางตารางหมากรุกดำและขาวก็จะเป็นความรู้สึกขัดแย้งกัน หรือฉากเด็กเล็กที่กำลังจะถูกลักพาตัว แล้วถูกอุ้มวิ่งผ่านสวนกระบองเพชร จะทำให้ได้อารมณ์ความรู้สึกของสถานที่เหล่านี้อยู่ที่การตีความของผู้กำกับ ที่จะเลือกสถานที่ได้ความรู้สึกและความหมายทางศิลปะ

การคัดเลือกผู้แสดง (Casting)
การหาผู้แสดง มีแหล่งที่หาได้ดังนี้
ชมรมละครและการแสดงตามมหาวิทยาลัย
บริษัทจัดหานายแบบ และนางแบบ (modeling agency)
โรงเรียนการแสดงและภาพยนตร์
ชมรมเชียร์ลีดเดอร์
สนามกีฬาและสถานทีเพาะกาย
สถานที่บันเทิง
เดินหาในรูปแบบแมวมอง
การประกาศหานักแสดง
ชมรมละครและการแสดงตามมหาวิทยาลัย ที่นี่จะเป็นศูนย์รวมของหนุ่มสาวหน้าตาดี มีความสนใจในการแสดงและมีความสามารถระดับหนึ่ง หากชมรมมีผลงานแสดงบนเวที เราก็จะเห็นความสามารถของนักแสดงจริงๆ หากไม่มีการแสดงก็อาจจะขอดูเทปบันทึกการแสดงครั้งก่อนๆ
บริษัทจัดหานายแบบและนางแบบ บริษัทเหล่านี้จะมีแฟ้มภาพถ่ายของนายแบบนางแบบ โดยมีภาพใบหน้า ภาพถ่ายด้านหน้า เต็มตัว ให้เลือกพร้อมบอกความสามารถพิเศษอื่นๆ เช่น เล่นฉากบู๊ตีลังกาได้ ร้องเพลงได้ เต้นรำได้ เป็นต้น
โรงเรียนการแสดงและภาพยนตร์ แผนกภาพยนตร์บางแห่งจะมีสาขาการแสดงการขับร้องนาฎศิลป์ จึงเป็นแหล่งที่รวมนักแสดงไว้มาก
ชมรมเชียร์ลีดเดอร์ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่จะหานักแสดงได้ โดยเฉพาะคนที่มีรูปร่างดี
สนามกีฬาและสถานเพาะกาย สถานที่เหล่านี้จะมีเด็กหนุ่มรูปร่างดีและหน้าตาดี มีบุคลิกภาพและความคล่องตัวให้เลือกมาก
สถานบันเทิง เจ้าของกิจการบันเทิงมักจะหาเด็กสาว และเด็กหนุ่มหน้าตาดีไว้ทำงาน เช่น พนักงานเสิร์ฟในภัตตาคาร เจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์ต้อนรับ แผนกขาย แผนกบริการลูกค้า ฯลฯ
เดินหาในรูปแบบของแมวมอง การหาวิธีนี้คือการลงพื้นที่ตามแหล่งต่างๆ ที่มีผู้คนมากมาย เช่น สถานีขนส่ง ศูนย์การค้า การแสดงคอนเสิร์ต ป้ายรถเมล์ เห็นใครบุคลิกดีก็ติดต่อ ขอชื่อเบอร์โทรศัพท์ วิธีนี้บางครั้งจะได้ผู้แสดงดีๆ อย่างคาดไม่ถึง เวลาแสดงจะแลดูเป็นธรรมชาติ (เนื่องจากไม่ใช่นักแสดงอาชีพอย่างผู้ที่มาจากโมเดลลิ่ง เอเจนซี) เขาจะเป็นผู้ที่เล่นภาพยนตร์ของเราครั้งแรกจึงไม่ติดบท และมาดเก่าๆ ที่เคยแสดงมาก่อน
การประกาศหานักแสดง วิธีนี้ก็คือการจัดทำโปสเตอร์ไปติดที่ต่างๆ หรือประกาศทางหน้าหนังสือพิมพ์ บอกบุคลิกลักษณะที่ต้องการพร้อมสถานที่ติดต่อ

จากข้อ 8 ข้อข้างต้นที่เป็นแหล่งหานักแสดง ก็เชิญมาทำการคัดเลือกโดยสถานที่คัดเลือกควรเป็นห้องที่เงียบสงบ ในห้องนั้นจะมีผู้กำกับ ผู้จัดการสร้าง และช่างภาพนิ่ง และวิดีโอ วิธีคัดเลือกก็คือ นำบทให้อ่านอาจจะเป็นบทที่เราจะถ่ายทำ หรือเป็นบทภาพยนตร์เก่าๆ ก็ได้ บรรยากาศในห้องต้องทำให้ผู้มาคัดเลือกผ่อนคลายสบายใจ สัมภาษณ์เขาอย่างเป็นกันเอง อย่าให้เขาอึดอัดและเป็นกังวล เราจึงจะเห็นความรู้สึกของเขาได้ชัดเจน ผู้มาคัดเลือกจะอ่านบทช้าๆ แล้วจะค่อยๆ เข้าถึงบททีละน้อยๆ ผู้กำกับจะสังเกตดูที่สีหน้าและแววตา จากนั้นให้ลองอ่านบทอีกครั้ง โดยตีความบทที่แตกต่างจากครั้งแรก ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เราจะรู้ว่าผู้แสดงมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ก็จากน้ำเสียงความรู้สึกและความเข้าใจในตัวละคร จากนั้นก็ให้คะแนนไว้พร้อม จดบันทึกข้อบกพร่องต่างๆ เช่น เสียงแหบ หรือดวงตากระพริบถี่ เป็นต้น ขั้นตอนต่อไป คือ ให้พูดเดี่ยว เนื้อหาอะไรก็ได้อยากเล่าเรื่องทางบ้าน เพื่อนสนิท ประสบการณ์ในอดีต ก็ให้พูดออกมา เราก็จะเห็นแววนักแสดงได้ในช่วงนี้ จากนั้นก็ใช้เทคนิคแสดงสดที่เรียกว่า improvisation โดยให้คิดเหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา แล้วลองให้แสดงโดยอาจจะมีผู้แสดงร่วมด้วย เช่น ฉากแย่งแหวนทองที่เก็บได้ การแสดงสดนี้จะทำให้สามารถค้นหาแววนักแสดงได้เช่นกัน อีกเทคนิคหนึ่งก็คือ การให้เล่นละครใบ้ (pantomine) เช่น ลองให้ทำมือทำไม้ในการชงกาแฟโดยไม่มีถ้วยกาแฟ ซักผ้าตากผ้ากับอากาศเปล่าๆ การแสดงละครใบ้นี้ช่วยให้เราเห็นว่าผู้แสดงมีจินตนาการสูงต่ำเพียงใด ระหว่างที่คัดเลือกจะมีการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอไว้ เพื่อนำมาพิจารณาอีกครั้งในที่ประชุม เมื่อได้ผู้แสดงแล้วก็อย่าลืมโทรศัพท์ปฏิเสธผู้ไม่ถูกเลือกอย่างสุภาพ เผื่อโอกาสในการคัดเลือกในเรื่องหน้า

การกำกับภาพยนตร์ (Film Directing)

การกำกับภาพยนตร์ คือ การควบคุมงานศิลปะต่างๆ ของภาพยนตร์ให้ไปในทิศทาง (direction) ที่ผู้กำกับภาพยนตร์ต้องการ ผู้กำกับภาพยนตร์ (Director) คือ ผู้ที่ควบคุมส่วนประกอบทุกส่วนที่ปรากฏหน้ากล้องถ่ายภาพ เป็นผู้ถอดบทภาพยนตร์ให้ออกมาเป็นภาพ โดยประสานส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัวและมีศิลปะ ส่วนประกอบของภาพยนตร์ เช่น ผู้แสดง ภาพ ฉาก แสง เสียง ฯลฯ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วสามารถทำให้ผู้ชมประทับใจ อีกทั้งเข้าใจแก่นเรื่อง (theme) หรือแนวความคิดหลักของเรื่องนั้นได้

ผู้กำกับภาพยนตร์จะต้องทำงานประสานกับบุคลากรในกองถ่ายแผนกต่างๆ เช่น ผู้กำกับภาพ ผู้กำกับฝ่ายศิลป์ ผู้จัดการกองถ่าย ฯลฯ เพื่อให้ช่วยสร้างภาพที่ฝันให้เป็นตามจินตนาการที่ตนเองต้องการในการทำงานก่อนการถ่ายทำ ผู้กำกับมีลำดับการทำงานดังนี้
เข้าใจบทอย่างแตกฉาน (ตีบทแตก)
วิเคราะห์ภูมิหลังตัวละคร
แบ่งบทเป็นช่วงๆ (dramatic beat)
กำหนดรูปแบบของงาน
กำหนดจังหวะและระดับความรู้สึก (rhythm and tone)
ร่างผังการถ่าย และทำสตอรี่บอร์ด
ทำรายการถ่าย (shotlist)
เข้าใจบทอย่างแตกฉาน (ตีบทแตก) ผู้กำกับภาพยนตร์จะอ่านบทหลายๆ ครั้ง ตรงไหนที่ไม่เข้าใจก็ถามคนเขียนบท ต้องมีความรู้กว้างขวาง และลึกซึ้งต่องานที่ตนเองจะกำกับ เช่น ถ้าภาพยนตร์เรื่องนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่น ก็ต้องหาหนังสือจิตวิทยาวัยรุ่นมาอ่าน หรือพูดคุยสัมภาษณ์วัยรุ่น ผู้กำกับภาพยนตร์ต้องรู้จังหวะของเรื่องว่าจะมีลีลาอย่างไร เห็นภาพในสมองแจ่มชัดสามารถที่จะจำรายละเอียดในบทได้เกือบทั้งหมด ทั้งนี้หากว่าทีมงานหรือนักแสดงถาม เขาจะให้คำตอบได้
วิเคราะห์ภูมิหลังตัวละคร ผู้กำกับภาพยนตร์ต้องเข้าใจตัวละครเสมือนเป็นญาติสนิท รู้ว่าเขาและเธอมีภูมิหลังอย่างไร นิสัยอย่างไร ต้องขุดลึกและรู้พฤติกรรมนั้นๆ ว่า ทำไมเขาจึงเป็นเช่นนั้น และกระทำสิ่งเหล่านั้นเพราะอะไร ถ้าเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเขาจะทำอย่างไร เพื่อเมื่อเวลากำกับจะกำกับได้คล่องอีก ทั้งยังจะทำให้ตัวละครมีความน่าสนใจและสมจริง
แบ่งบทเป็นช่วงๆ (dramatic beat) ผู้กำกับภาพยนตร์จะต้องรู้ช่วงลีลาของหนังที่ภาพต่างๆ รวมกัน แล้วจะเกิดจังหวะลีลาเป็นช่วงๆ อย่างไร เช่น เด็กคนหนึ่งเก็บกระเป๋าสตางค์ที่ตกได้ (จังหวะที่ 1) เขางง หยิบขึ้นมาดู มองไปข้างหน้า (จังหวะที่ 2) เขาวิ่งไปคืนเจ้าขอ แต่เจ้าของขึ้นรถเมล์ไปแล้ว (จังหวะที่ 3) เขาขึ้นรถเมล์สายเดียวกันตามไป (จังหวะที่ 4) เขายิ้มเมื่อเห็นเจ้าของกระเป๋าลงจากรถ เขาลงตามไป (จังหวะที่ 5) เขาเรียก แล้วคืนกระเป๋าให้ (จังหวะที่ 6) เจ้าของเงินรับ เจ้าของกระเป๋าเดินไป สักพักหันกลับมาเรียก เขาตกใจ เจ้าของกระเป๋ายื่นนามบัตรให้บอกว่าถ้ามีอะไรจะให้ช่วยเหลือ ก็ให้ติดต่อ(จังหวะที่ 7) ผู้กำกับจะต้องนำบทมาแบ่งเป็นช่วงของฉากเป็นหลายๆ ช่วง เพื่อให้เกิดจังหวะและลีลาการเล่าเรื่อง
การกำหนดรูปแบบของงาน การกำหนดรูปแบบของงาน หมายถึง การเลือกที่จะสร้างบุคลิกลักษณะของภาพยนตร์ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เรียกว่า การออกแบบ look ของภาพยนตร์ เช่น look ที่เป็นวัยรุ่นสมัยใหม่ ก็จะเป็นภาพแคบๆ ตัดต่อฉับไว ฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากใช้สีสันฉูดฉาด แต่ถ้า look ออกมาเป็นเชิงที่เรียกว่า คลาสสิค ก็จะถ่ายเป็นภาพกว้างๆ จัดแสงเหมือนคัทยาวๆ โทนสีออกไปทางสีน้ำตาล (sepia) look ของภาพยนตร์แต่ละแนวจะแตกต่างกัน ภาพยนตร์แนวชีวิตก็จะใช้ Look ลักษณะหนึ่ง ในขณะที่แนวตลก แนวผี แนวฆาตกรรม แนววิทยาศาสตร์ก็จะอีกลักษณะ
กำหนดจังหวะ หมายถึง การกำหนดลีลาช่วงเดินเรื่องของภาพยนตร์ระดับความรู้สึกของงาน เช่น ภาพยนตร์ที่มีช่วงลีลาเร็วมาก ความรู้สึกของภาพจะรุนแรง แสง เสียง การใช้สีสันจะจัดจ้าน เข้มข้น ตรงกันข้ามกับภาพยนตร์ชีวิตรักจะเดินเรื่องช้าๆ ความรู้สึกของภาพอ่อนละมุนนุ่มนวล ฉากเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบฉากมักใช้สีอ่อนๆ
ร่างผังการถ่ายและสตอรี่บอร์ด (floorplan and storyboard) ผู้กำกับภาพยนตร์จะต้องออกแบบร่างผังการถ่าย (floorplan) ลักษณะของผังการถ่ายเหมือนกับการมองดูจากเพดานว่า ตัวละครเข้าออกทางไหน ไปนั่งเก้าอี้ตัวใด โต๊ะตู้วางอย่างไร รวมถึงตำแหน่งของกล้องอยู่ตรงไหน เคลื่อนไหวกล้องอย่างไร การจัดทำผังการถ่าย (Floor Plan) จะทำให้ช่างภาพและฝ่ายจัดฉากทำงานสะดวกขึ้น จากนั้นก็ทำสตอรี่บอร์ด (storyboard) สตอรี่บอร์ดทำเพื่อให้เห็นขนาดภาพ องค์ประกอบของภาพ ความต่อเนื่องสัมพันธ์ระหว่างภาพหนึ่งไปยังอีกภาพหนึ่ง หากผู้กำกับไม่ถนัดในการเขียน ก็ร่างภาพหยาบๆ แล้วจ้างช่างศิลป์มาเขียนให้สตอรี่บอร์ดจะช่วยให้ทีมงาน และผู้กำกับทำงานสะดวกมองออกว่าจากภาพนี้แล้ว ภาพต่อไปจะเป็นอย่างไร
ทำรายการถ่าย (shotlist) รายการถ่าย คือ การกำหนดจำนวนภาพที่จะถ่ายเรียงลำดับจากช๊อตที่ 1 แล้วแตกช๊อตออกไปเป็น 1.1, 1.2, 1.3 ช๊อตที่ 2, 2.1, 2.2, 3, 4, 4.1 (ในการเปลี่ยนตำแหน่งของกล้องแต่ละครั้ง อาจจะมีหลายช๊อตก็ได้ คือ ถ่ายภาพขนาดต่างๆ กัน ใช้เลนส์หรือฟิลเตอร์ต่างกัน) รายการถ่ายต้องทำให้ละเอียด เพื่อใช้ในการถ่ายในแต่ละวัน เพื่อเป็นแนวทางของผู้กำกับและทีมงาน ภาพจะเป็นอย่างไร ถ่ายอย่างไร ตัวละครจะอยู่ตำแหน่งไหน หันหน้า ไปทางใด ทำอะไร เข้าออกภาพทางไหน ตัดภาพเมื่อไหร่ จะอธิบายให้ละเอียดในคราวนี้อีกที (หลังจากที่ ได้บอกไว้บ้างแล้ว) เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะปฏิบัติตามฝ่ายศิลป์ก็จะจัดฉากให้สวยงาม ฝ่ายกล้องก็จะจัดแสง จัดภาพ วัดระยะโฟกัส เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็จะเชิญผู้แสดงมาเข้ากล้อง มีการซ้อม 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้แสดงรู้ว่าจะพูดอะไร ทำอะไร สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของกล้องอย่างไร การซ้อมครั้งแรกจะซ้อมให้เกิดความคล่องตัวของท่าทาง, การเดิน, หยิบจับสิ่งของต่างๆ ฝ่ายกล้องก็จะซ้อมก็จะซ้อมความเคลื่อนไหวของกล้องว่าจะกระตุกหรือไม่ จับโฟกัสตัวละครได้หรือไม่ การซ้อมครั้งที่ 2 จะซ้อมการแสดงอารมณ์ โดยทำเหมือนถ่ายจริงทุกอย่าง เพียงแต่ยังไม่เริ่มกดชัตเตอร์เดินฟิล์ม หากการซ้อมครั้งนี้มีความเข้าใจผิด เช่น ผู้แสดงตีความบทผิด ระดับอารมณ์ยังไม่ถึงใจ ก็จะมีการปรับแต่งเพิ่มเติมจนเป็นที่พอใจ เมื่อซ้อมได้ที่แล้ว ผู้ช่วยผู้กำกับจะสั่งคำว่า "พร้อม" "ผู้แสดงพร้อม" ผู้แสดงจะขานรับว่า "พร้อม" "เสียงพร้อม" ผู้บันทึกเสียงขานรับว่า "พร้อม" "กล้องพร้อม" ตากล้องจะขานรับว่า "พร้อม" ผู้กำกับภาพยนตร์จะกล่าวคำว่า "แอคชั่น" หรือ "เล่นได้" ผู้แสดงก็จะเล่นไป จนกระทั่ง "คัท" หรือ "ตัด" ทุกคนก็จะหยุด แล้วถ่ายครั้งที่ 2 (take 2) อีกครั้ง และถ่ายไปเรื่อยๆ จนพอใจ เมื่อได้ footage มาจนพอใจ ผู้กำกับภาพยนตร์ก็จะดูแลงานในขั้นการตัดต่อลำดับภาพ การแต่งดนตรีประกอบ การทำไตเติ้ล เอฟเฟคพิเศษ การบันทึกเสียง และการเลือกและแต่งสีภาพยนตร์ จนภาพยนตร์สำเร็จออกมา


โดย ผศ.ปกรณ์ พรหมวิทักษ์


เอกสารอ้างอิง

GERALD MILLER SON. Video Production Handbook. Great Britain: Focal Press. 1992.

PETER W. REA AND DAVID K. IRVING. Producing and Directing the Short Film and Video. Focal Press. 1995.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น