วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ทำไมคนจึงเป็นโรคมะเร็งกันมาก?

จากการเปรียบเทียบพฤติกรรมการบริโภค ระหว่างคนอเมริกัน กับ คนจีน และผลกระทบของการบริโภคในเรื่องสุขภาพ พบว่าคนอเมริกันกินอาหารที่มีไขมันและเนื้อสัตว์มากกว่าคนจีน ในขณะที่คนจีนจะกินอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืชมากกว่าคนอเมริกัน ผลการศึกษาจึงชี้ให้เห็นว่า คนอเมริกันป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ-หลอดเลือด โรคกระดูกผุ ไขมันในเลือดสูง ไขข้ออักเสบ เบาหวาน และโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนจีน (แต่ในปัจจุบันคนจีนและชาติอื่นๆก็เริ่มมีการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มมากขึ้น)

จากผลการศึกษาของ Dr. T Colin Campbell ได้สรุปเรื่องของอาหารและการก่อโรค อย่างน่าสนใจว่า

1. การกินอาหารไขมัน ในปริมณที่เกิน 30 เปอร์เซนต์ของอาหารทั้งหมด จะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งหลายชนิด และโรคเรื้อรังต่างๆ

2. การบริโภคอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ มากว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จะเร่งการเกิดการขยายตัว การส่งเสริมโรคมะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ ฯลฯ

3. การกินอาหารที่มีโปรตีน ไขมัน แคลเซียม (เนื้อสัตว์ นม เนย ไข่ อาหารจานด่วน ฯลฯ) ในเพศหญิง มีไขมันสูงและสารปนเปื้อน ทำให้เพิ่มเอสโตรเจนในร่างกาย จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์ โดยเฉพาะหญิงที่เริ่มมีประจำเดือนเร็ว เมื่ออายุประมาณ 10-12 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ และมดลูกสูง

4. นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไม่สามารถป้องกันโรคกระดูกเปราะบาง และโรคกระดูกผุได้ และเรื่องของสมดุลธรรมชาติ จะเป็นตัวบ่งชี้ของการเกิดโรคได้เช่นกัน กล่าวคือ หากกินอาหารจำพวกธัญพืช ข้าวกล้อง ผักสด ผลไม้ เป็นประจำจะทำให้สุขภาพดีได้ ในขณะเดียวกัน หากยังคงกินอาหารขยะ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ก็จะเสี่ยงกับการเกิดโรคต่างๆ








วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กินอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การเติบโตของประชากรทั่วโลก และความต้องการอาหารเพื่อการบริโภค นำไปสู่การก่อมลภาวะให้กับโลกเราโดยอ้อม

ในอดีต การกินอาหารอาจเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน แต่ในปัจจุบัน กลับเป็นเรื่องที่ควรตระหนักและให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากสามารถส่งผลต่อสุขภาพร่างกายจนอาจก่อให้เกิดโรคภัย นำไปสู่การเสียชีวิต และที่สำคัญยังสามารถส่งผลร้ายทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อมในโลกของเราได้อีกด้วย

ประชากรทั่วโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ความต้องการทางอาหารมีสูงขึ้นอย่างฉับพลัน บวกกับความหลากหลายของอาหาร ทำให้เรามีการบริโภคอาหารมากขึ้น ดังนั้นเราจะมาดูกันว่า เราควรเลือกรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของร่างกาย และที่สำคัญ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมของโลกเราให้มีความน่าอยู่ต่อไป ซึ่งถูกตีพิมพ์เป็นคู่มือจำนวน 90 หน้าในชื่อ A Meat Eater's Guide to Climate Change and Health


เริ่มต้นด้วยประเด็นสภาวะอากาศผันผวนและโลกร้อน ที่ทุกคนกำลังประสบกันอยู่ในขณะนี้ กลับไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและการปล่อยควันพิษสู่ชั้นบรรยากาศเพียงอย่างเดียวอย่างที่ใครๆหลายคนเข้าใจแท้จริงแล้ว การเรอหรือการผายลมออกมาบ่อยครั้งของสัตว์ต่างๆและกระบวนการแปรรูปเนื้อสัตว์ก็เป็นสาเหตุหลักที่มีส่วนทำให้สภาพอากาศแปรปรวนและโลกร้อนเช่นกัน เพราะสัตว์ส่วนใหญ่จะมีการระบายก๊าซในกระเพาะออกมาในรูปของ ก๊าซมีเทน



นอกจากนี้การใช้ปุ๋ยเพื่อปลูกอาหารสัตว์ การปศุสัตว์ กระบวนการต่างๆ ไปจนถึงการปรุงอาหาร มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งทั้งหมดนี้รวมไปถึงอาหารทุกรูปแบบ เช่น เนื้อวัว เนื้อปลา ธัญพืช ผลิตภัณฑ์นม และผัก แม้กระทั้งการทิ้งอาหารเหลือ ก็สามารถกลายเป็นแหล่งสำคัญในการสร้างมลภาวะ และมลพิษ

"ว่ากันว่า หากครอบครัว 4 คนหยุดรับประทานสเต็กเนื้อแกะสัปดาห์ละ 1 มื้อ จะเท่ากับการจอดรถยนต์ทิ้งไว้ 3 เดือน"

เนื้อสัตว์ เป็นอาหารที่สร้างผลเสียต่อสภาพแวดล้อมมากที่สุด โดยเนื้อแกะเป็นอาหารที่ก่อก๊าซคาร์บอนมากที่สุด คือ ก่อก๊าซ CO2 40 กก. ต่อการกินเนื้อแกะ 1 กก. ตามมาด้วยเนื้อวัว ซึ่งก่อก๊าซคาร์บอน 27 กก. ในเนื้อวัว 1 กก. ที่เรารับประทานเข้าไป


ถ้าเปรียบเทียบกับการขับรถยนต์ การที่รับประทานสเต็กเนื้อแกะส่วนอกขนาด 110 กรัม จะเท่ากับการขับรถยนต์ขนาดกลางเป็นระยะทาง 21 กม.​ เลยทีเดียว และถ้าหากครอบครัวจำนวน 4 คนหยุดรับประทานสเต็กเนื้อแกะนี้เป็นเวลาสัปดาห์ละ 1 มื้อ จะเท่ากับการจอดรถยนต์ทิ้งไว้ 3 เดือนเลยทีเดียว


ในทวีปต่างๆ คนอเมริกันบริโภคเนื้อสัดว์มากกว่าคนยุโรปถึง 60 % และมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ด้วยตัวเลขจำนวนเนื้อสัตว์ 100 กก. ต่อปี ในขณะเดียวกัน ประเทศจีน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองในฐานะประเทศที่มีการบริโภคเนื้อสัตว์สูงอย่างรวดเร็วจนใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา

ด้านสุขภาพ หากบริโภคเนื้อสัตว์จำนวนมาก สามารถนำไปสู่โรคร้ายต่างๆเช่นเดียวกัน เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอ้วน โดยคนทั่วโลกบริโภคเนื้อวัวเพิ่มขึ้นจาก 70 ล้านตันในปี 1960 เป็น 300 ล้านตันในปัจจุบัน

ชีส เป็นอีกหนึ่งในอาหาร ที่มีส่วนสร้างมลภาวะให้แก่โลกของเราเช่นกัน สาเหตุหลักมาจากการต้องใช้นมจำนวนมากในการผลิตชีส ในส่วนของเนื้อสัตว์อื่นๆเช่น เนื้อหมู เนื้อปลาแซลมอนเลี้ยง เนื้อไก่ ต่างมีส่วนในการก่อมลภาวะเรือนกระจก หรือการปล่อยน้ำเสียจากการกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

การช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการเลือกรับประทานอาหาร สามารถทำได้โดยง่าย ด้วยการจับจ่ายอาหารอย่างพอเหมาะ เพื่อไม่ให้เกิดอาหารเหลือทิ้งและสร้างมลภาวะต่อไป จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เบาหวาน diabetes

เบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ อันส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกิน โรคเบาหวานจะมีอาการเกิดขึ้นเนื่องมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสม ซึ่งโดยปกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้โรคเบาหวานนี้เปรียบเทียบได้ง่ายๆ โดยเปรียบร่างกายเราเป็นระบบปั๊มน้ำ และน้ำในระบบก็คือเลือดของเราโดยปรกติแล้วปั๊มน้ำก็จะทำงานอย่างปรกติ แต่เมื่อมีการทำให้น้ำในระบบเกิดความข้นขึ้น(ก็คือการเติมน้ำตาลลงไปในน้ำ) น้ำในระบบก็จะมีความหนืดขึ้น ปั๊ม(หัวใจ)ก็จะต้องทำงานหนักขึ้น ท่อน้ำ(หลอดเลือด)ก็ต้องรับแรงดันที่มากขึ้น ดังนั้นคนที่เป็นโรคเบาหวานก็จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนกับอวัยวะต่างๆเพิ่มขึ้นได้
ปี 2550 พบผู้ป่วยเบาหวานแล้วถึง 246 ล้านคน โดยผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก 4 ใน 5 เป็นชาวเอเชีย
เบาหวาน เป็นโรคที่เป็นกันมากขึ้นทุกปีจนมีการกำหนดให้วันที่ 14 พฤษจิกายน ของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลกเพื่อให้มีการรณรงค์ป้องกันให้เป็นที่แพร่หลายขึ้น






อินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มเซลล์ภายในตับอ่อน มีหน้าที่ในการนำน้ำตาลในเลือดไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกายเพื่อใช้ในการสร้างพลังงานและสร้างเซลล์ต่างๆ โดยปรกติแล้วเมื่อมีน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดตับอ่อนก็จะถูกกระตุ้นให้หลั่ง อินซูลิน แล้วอินซูลินก็จะเข้าจับน้ำตาลเพื่อนำไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งร่างกายมี อินซูลิน ไม่เพียงพอก็จะทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น



เบาหวาน สามารถแบ่งออกได้เป็น2ชนิด ได้แก่

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำลายเซลล์ ซึ่งสร้างอินซูลินในส่วนของตับอ่อนทำให้ร่างกายหยุดสร้างอินซูลิน หรือสร้างได้น้อยมาก ดังที่เรียกว่า โรคภูมิต้านทานตัวเอง หรือ ออโตอิมมูน(autoimmune) ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดระยะยาว และถ้าเป็นรุนแรง จะมีการคั่งของสารคีโตน(ketones) สารนี้จะเป็นพิษต่อระบบประสาททำให้หมดสติถึงตายได้โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็น เบาหวาน ที่พบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุที่แท้จริงนั้นยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีส่วนเกี่ยวกับ พันธุกรรม นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะ น้ำหนักตัวมาก และขาดการออกกำลังกาย มีลูกดก อีกทั้งวัยที่เพิ่มขึ้น เซลล์ของผู้ป่วยยังคงมีการสร้างอินซูลินแต่ทำงานไม่เป็นปกติ เนื่องจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เซลล์ที่สร้างอินซูลินค่อยๆถูกทำลายไป บางคนเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนโดยไม่รู้ตัว โดยอาจจะใช้ยาในการรับประทาน และบางรายต้องใช้อินซูลินชนิดฉีด เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือด


นอกจากนี้ เบาหวาน ยังมีสาเหตุมาจากการใช้ยาด้วย เช่น สเตอรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาเม็ดคุมกำเนิด



ผู้เป็นโรคเบาหวานจะมีอาการเบื้องต้นคือ


ปวดปัสสาวะบ่อย ครั้งขึ้น เนื่องจากในกระแสเลือดและอวัยวะต่างๆมีน้ำตาลค้างอยู่มาก ไตจึงทำการกรองออกมาในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะหวาน สังเกตุจากการที่มีมดมาตอมปัสสาวะ จึงเป็นที่มาของการเรียก เบาหวาน

ปัสสาวะกลางคืนบ่อยขึ้น

กระหายน้ำ และดื่มน้ำในปริมาณมากๆต่อครั้ง

อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง

เบื่ออาหาร

น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะถ้าหากน้ำหนักเคยมากมาก่อน อันเนื่องมาจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปสร้างพลังงานได้เต็มที่จึงต้องนำไขมันและโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้ทดแทน

ติดเชื้อบ่อยกว่าปรกติ เช่นติดเชื้อทางผิวหนังและกระเพาะอาหาร สังเกตุได้จากเมื่อเป็นแผลแล้วแผลจะหายยาก

สายตาพร่ามองไม่ชัดเจน

อาการชาไม่ค่อยมีความรู้สึก เนื่องมาจากเบาหวานจะทำลายเส้นประสาทให้เสื่อมสมรรถภาพลงความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกจึงถดถอยลง

อาจจะมีอาการของโรคหัวใจ และโรคไต

โดย เบาหวานชนิดที่ 2 อาจจะมีอาการเหล่านี้บางอย่าง หรืออาจไม่มีอาการเหล่านี้เลย



มักจะเกิดเมื่อเป็น เบาหวาน อย่างน้อย 5 ปีแล้วไม่ได้รักษาอย่างจริงจัง


ภาวะแทรกซ้อนทางสายตา (Diabetic retinopathy)เกิดจากการที่น้ำตาลเข้าไปใน endothelium ของ หลอดเลือดเล็กๆ ในลูกตา ทำให้หลอดเลือดเหล่านี้มีการสร้างไกลโคโปรตีนซึ่งจะถูกขนย้ายออกมาเป็น Basement membrane มากขึ้น ทำให้ Basement membrane หนา แต่เปราะ หลอดเลือดเหล่านี้จะฉีกขาดได้ง่าย เลือดและสารบางอย่างที่อยู่ในเลือดจะรั่วออกมา และมีส่วนทำให้ Macula บวม ซึ่งจะทำให้เกิด Blurred vision หลอดเลือดที่ฉีกขาดจะสร้างแขนงของหลอดเลือดใหม่ออกมามากมายจนบดบังแสงที่มาตกกระทบยัง Retina ทำให้การมองเห็นของผู้ป่วยแย่ลง ตาหรือจอตาเสื่อม หรือมองเห็นจุดดำลอยไปมา และอาจจะทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนทางไต (Diabetic nephropathy)ไตมักจะเสื่อม จนเกิดภาวะไตวาย พยาธิสภาพของหลอดเลือดเล็กๆ ที่ Glomeruli จะทำให้ Nephron ยอมให้ albumin รั่วออกไปกับ filtrate ได้ Proximal tubule จึงต้องรับภาระในการดูดกลับสารมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นนานๆ ก็จะทำให้เกิด Renal failure ได้ ซึ่งผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 3 ปี นับจากแรกเริ่มมีอาการ

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (Diabetic neuropathy) เบาหวาน จะทำให้หลอดเลือดเล็กๆ ที่มาเลี้ยงเส้นประสาทบริเวณปลายมือปลายเท้าเกิดพยาธิสภาพ ก็จะทำให้เส้นประสาทนั้นไม่สามารถนำความรู้สึกต่อไปได้ เช่นรู้สึกชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือ เมื่อผู้ป่วยมีแผล ผู้ป่วยก็จะไม่รู้ตัว และไม่ดูแลแผลดังกล่าว ประกอบกับเลือดผู้ป่วยมีน้ำตาลสูง จึงเป็นอาหารอย่างดีให้กับเหล่าเชื้อโรค และแล้วแผลก็จะเน่า และนำไปสู่ Amputation ในที่สุด ในผู้ชายอาจมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ(impotence)

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary vascular disease) เบาหวาน เป็นตัวการที่จะเร่งให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดทั่วร่างกายและเมื่อหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจเสื่อมสภาพจาก เบาหวาน ประกอบกับการมีไขมันในเลือดสูง ก็จะส่งผลให้มีการตีบของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด แต่หากหลอดเลือดเกิดอุดตัน ก็จะเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย ในผู้ป่วย เบาหวาน บางราย กล้ามเนื้อหัวใจมีการทำงานน้อยกว่าปกติ คือ มีการบีบตัวน้อยกว่าปกติอันเนื่องมาจาก เส้นเลือดฝอยเล็กๆที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติจาก เบาหวาน ซึ่งจะทำการรักษาได้ยาก การรักษาที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ปัญหาที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งของผู้เป็น เบาหวาน คือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจจะไม่แสดงอาการผิดปกติซึ่งจะบ่งชี้ว่าเป็นโรคหัวใจให้เห็นก่อน เช่นอาการเจ็บหน้าอก อันเป็นอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วไป ดังนั้นผู้เป็น เบาหวาน บางรายอาจจะแสดงอาการครั้งแรกด้วยอาการที่รุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ หัวใจล้มเหลว ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ช้ากว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้

โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease) ผู้เป็น เบาหวาน จะมีอัตราเสี่ยงในการเกิดอัมพาตชนิดหลอดเลือดตีบได้สูง เพราะ เบาหวาน ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งได้ง่าย โดยจะมีหลอดเลือดแข็งทั่งร่างกายและถ้าเป็นที่หลอดเลือดของสมอง ก็จะเกิดอัมพาตขึ้น โดยอัตราเสี่ยงของผู้ป่วยที่เป็น โรคเบาหวาน จะมีโอกาสเป็นอัมพาตได้สูงกว่าผู้ป่วยปกติ 2-4 เท่า โดยจะมีอาการเบื้องต้นสังเกตุได้จาก กล้ามเนื้อแขน ขาอ่อนแรงครึ่งซีกอย่างทันทีทันใดหรือเป็นครั้งคราว ใบหน้าชาครึ่งซีกใดซีกหนึ่ง พูดกระตุกกระตัก สับสนหรือพูดไม่ได้เป็นครั้งคราว ตาพร่าหรือมืดมองไม่เห็นไปชั่วครู่ เห็นแสงผิดปกติ วิงเวียน เดินเซไม่สามารถทรงตัวได้ กลืนอาหารแล้วสำลักบ่อยๆ มีอาการปวดศรีษะอย่างรุนแรงโดยอาการปวดมักจะเกิดในขณะที่เคร่งเครียด หรือมีอารมณ์รุนแรง

โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย (Peripheral vascular disease)

แผลเรื้อรังจากเบาหวาน (Diabetic ulcer)






เบาหวาน พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในคนอายุกว่า 40 ปีขึ้นไป คนที่อยู่ในเมืองมีโอกาสเป็น เบาหวาน มากกว่าคนในชนบท คนอ้วนที่น้ำหนักเกิน โดยดูจากดัชนีมวลกาย ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย และหญิงที่มีลูกดกโดยเฉพาะผู้มีประวัติคลอดบุตรมีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า4กิโลกรัม จะมีโอกาสเป็น เบาหวานได้มากขึ้น แต่ในปัจจุบันลักษณะการบริโภค และกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันส่งผลให้มีคนเป็น เบาหวาน เพิ่มมากขึ้น และการพบผู้ป่วยที่อายุน้อยที่เป็น เบาหวาน ก็เพิ่มสูงขึ้น







ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และแก้ไขปัจจัยเสี่ยงอื่นๆอันจะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน

ควบคุมโภชนาการ ให้มีความสมดุลทั้งในด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย รวมไปจนถึงการใช้ยารักษาโรค

ควรตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ โดยปรึกษาแพทย์ว่าควรตรวจเช็คเมื่อใด และ ระยะเวลาห่างในการตรวจที่เหมาะสม

ยาบางชนิดหรือยาสมุนไพร อาจมีผลต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือด จะต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยา หรือ สมุนไพร เหล่านี้






เบาหวานชนิดที่ 1 มักพบในคนที่ มีรูปร่างซูบผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อลีบฝ่อ
เบาหวานชนิดที่ 2 อาจมีรูปร่างอ้วน บางรายตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติตามร่างกาย การตรวจปัสสาวะมักจะพบน้ำตาลในปัสสาวะขนาดมากกว่าหนึ่งบวกขึ้นไป
การตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 6 ชั่วโมง (fasting plasma glucose/FPG) มักพบว่ามีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร






หากสงสัยว่าเป็น เบาหวาน ควรไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลโดย อดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ตั้งแต่เที่ยงคืน แล้วไปเจาะเลือดในตอนเช้า เพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร6ชั่วโมง (FPG) ซึ่งคนปกติจะมีค่าต่ำกว่า 110 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 มิลลิลิตร หากพบมีค่า เท่ากับหรือมากกว่า 126 มิลลิกรัม ในการตรวจอย่างน้อย 2ครั้ง ก็วินิจฉัยได้ว่าเป็นเบาหวาน และยิ่งมีค่าสูงเท่าใดก็แสดงว่ามีความรุนแรงของการเป็นเบาหวาน เพิ่มมากขึ้น







เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรัง ต้องใช้เวลาการรักษานานหรือตลอดชีวิต หากไม่ได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้องก็อาจมีอันตรายจากโรคแทรกซ้อนได้มาก

ผู้ที่กินยาหรือฉีดยารักษาเบาหวานอยู่ บางครั้งอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาการได้แก่ ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย ตัวเย็น เหงื่อออก ถ้าเป็นมากๆ อาจเป็นลม หมดสติ และอาจจะชักได้ ควรจะต้องพก น้ำตาลหรือของหวานติดตัวไว้ ถ้ารู้สึกมีอาการก็ให้รีบรับประทาน แล้วทบทวนดูว่าเกิดอาการเหล่านี้ได้อย่างไร โดยสังเกตุตัวเองจากการบริโภคอาหารเมื่อเป็นเบาหวานเช่น กินอาหารน้อยไปหรือไม่ ออกกำลังมากเกินไปหรือไม่ กินหรือฉีดยาเบาหวาน เกินขนาดไปหรือไม่ แล้วควมคุมทั้ง 3 อย่างนี้ให้พอดีกัน สำหรับผู้ที่กินอาหารผิดเวลาก็อาจเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควร รับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อด้วย
อย่าซื้อยากินเอง เนื่องจากยาบางประเภทมีผลต่อค่าน้ำตาลในเลือดได้ เช่น สเตอรอยด์ ยาขับปัสสาวะ และยาบางประเภทก็อาจทำให้ฤทธิ์ของยารักษาเบาหวาน แรงขึ้นได้ ก็จะมีผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ เช่น แอสไพริน ดังนั้นเมื่อเป็น เบาหวาน ก่อนทานยาประเภทใดควรจะต้องแน่ใจว่ายานั้นไม่มีผลต่อค่าน้ำตาลในเลือด

ผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นครั้งคราว เพื่อป้องกันตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม








เลือกบริโภคอาหารให้ครบ 5หมู่ โดยคำนึงถึงพลังงานที่ได้จากอาหารโดยประมาณจากคาร์โบไฮเดรต(แป้ง) ประมาณ 55-60%โปรตีน (เนื้อสัตว์) ประมาณ 15-20%ไขมัน ประมาณ 25%


ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากควรจะต้องลดปริมาณการรับประทานลง โดยอาจจะค่อยๆลดลงให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยรับประทานปรกติ และพยายามงด อาหารมันๆ ทอดๆ


รับประทานอาหารที่มีกากใยมากเพื่อช่วยในการขับถ่าย


หลีกเลี่ยงการรับประทานจุกจิกและรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา


พยายามรับประทานอาหารในปริมาณที่สม่ำเสมอกันในทุกมื้อ


หากมีอาการเกี่ยวกับโรคไตหรือความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม


แม้ระดับน้ำตาลในเลือดจะปรกติดีแล้วก็ควรจะต้องควบคุมอาหารตลอดไป





น้ำตาลทุกชนิด รวมไปถึงน้ำผึ้ง


ผลไม้กวนประเภทต่างๆ


ขนมเชื่อม ขนมหวานต่างๆ


ผลไม้ที่มีรสหวานมากๆ


น้ำหวานประเภทต่างๆ


ขนมทอดกรอบหรือชุบแป้งทอด

เคล็ดลับป้องกันโรคไต

ถ้าท่านได้อ่าน บันทึกสำคัญที่ใจ ในสมุดประสบการณ์ชีวิต ที่ผมเขียนขึ้นท่านอาจจะรู้สึกกลัวโรคภัย รู้สึกอยากจะรักษาสุขภาพตัวเองขึ้นมาทันที ผมเองคนหนึ่งทุกวันนี้ผมจะพยายามใส่ใจสุขภาพตัวเองและคนที่ผมรักมากที่สุด ผมกลัวกลัวที่จะต้องเผชิญกับภาวการณ์เป็นโรคโดยเฉพาะโรคที่รักษาไม่หายหรือรุนแรง แต่ “ขึ้นชื่อว่า โรคภัยไข้เจ็บจะรักษาได้หรือรักษาไม่ได้ผมก็ไม่เอาอะไรทั้งนั้น” แต่ผมต้องกลับมารู้จักกับโรคโรคหนึ่ง ที่ชื่อว่า "โรคไต" โดยผมไม่อยากรู้และอยากให้เกิด โดยพ่อผมป่วยเป็นไตวายต้องฟอกไตตลอดชีวิต มันน่ากลัวนะสำหรับผม หลายคนคงคิดนะครับว่าชีวิตนี้มีกรรมที่ต้องคอยไปฟอกไต ล้างไต หรือขนาดต้องเปลี่ยนไต เพราะเมื่อไตสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานไป เราก็จำเป็นต้องหาวิธีอื่นๆ มาพยุงไตให้สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ เพื่อต่อชีวิตของเจ้าของไตนั้น ท่านผู้รักสุขภาพทั้งหลายครับ ชีวิตเราอย่างน้อย เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดชีวิตเราได้ อาจไม่ร้อยเปอร์เซ็นแต่เราทำดีรักษาสุขภาพให้ดีไว้ก่อน จะไม่ได้เสียใจภายหลัง โรคทุกโรคมีแนวทางป้องกันได้วันนี้ผมนำบทความดีๆเรื่องโรคไต มาฝากครับ 

ไต มีหน้าที่อะไร

ก่อนที่จะรู้จักโรคไต เราควรที่จะทำความรู้จักกับอวัยวะที่มีชื่อว่า ไต หรือ kidney กันก่อนครับ ไตเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายมนุษย์ที่มีความมหัศจรรย์ และมีจำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิต คนปกติมีไต 2 ข้าง วางอยู่บริเวณกลางหลังข้างละ 1 อัน ไตทำหน้าที่กลั่นกรองน้ำ เกลือแร่ และสารเคมีส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการ พร้อมกับทำการคัดหลั่งของเสียออกจากร่างกาย ในรูปของน้ำปัสสาวะผ่านกรวยไตลงไปเก็บกักในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้พร้อมในการกำจัดทิ้งออกทางท่อปัสสาวะ

นอกจากนี้ ไตยังทำหน้าที่ปรับสมดุลของสารน้ำ เกลือแร่ในร่างกายและทำการสร้างสารและฮอร์โมนอีกหลากหลายชนิด ได้แก่ วิตามินดี ฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด และฮอร์โมนควบคุมความดันโลหิต เมื่อความบกพร่องเกิดขึ้นกับไต จนไตไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์ ในระยะแรกอาจพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง เช่นตรวจพบเพียงโปรตีนไข่ขาวรั่วในปัสสาวะจากการตรวจสุขภาพประจำปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา จนไตเสื่อมหน้าที่มากขึ้น จะเกิดภาวะที่เรียกว่า ภาวะไตวายเรื้อรัง

เมื่อไต เสียหน้าที่

ภาวะไตวายเรื้อรังในระยะนี้ ยังสามารถแก้ไขให้ไตกลับคืนหน้าที่ได้ หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ต่อเนื่องและเหมาะสม แต่หากปล่อยปละละเลยจนไตเสื่อมทุกหน้าที่อย่างสมบูรณ์ และถาวร จนเกิดภาวะที่เรียกว่า ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย หนทางเดียวที่แพทย์จะสามารถรักษาชีวิตให้ได้ก็คือ การบำบัด ทดแทนไต เช่น การฟอกเลือด การฟอกไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไตใหม่ให้ แม้ว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่ ก็ใช่ว่าไตนั้นจะใช้งานได้เหมือนอย่างไตของคนปกติ เพราะไม่ใช่ไตที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด ร่างกายต้องปรับตัวเข้ากับไตใหม่ ไตใหม่ที่ปลูกถ่ายมานี้ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานเฉลี่ยไม่เกินสิบปี และเมื่อการเปลี่ยนไตสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะต้องหลีกเลี่ยง และระวังกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากไตใหม่ที่ปลูกถ่ายใหม่นั้น ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ที่กระตุ้นให้ภูมิต้านทานของร่างกายออกมาทำหน้าที่ต่อต้าน จึงจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจึงเสี่ยงต่อการเชื้อต่างๆ จากภายนอกได้ง่าย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวเข้ามาเยือนตัวคุณ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสนใจป้องกันตนเอง หมั่นตรวจสอบตัวคุณอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความสะอาดของทั้งเครื่องใช้ อาหาร และการสัมผัสกับแหล่งเชื้อโรคในที่ต่างๆ เช่น ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เป็นต้น

สัญญาณเตือนภัย ไตผิดปกติ

ทางการแพทย์สามารถแบ่งความผิดปกติของไตได้เป็น 8 ประเภท ได้แก่ โรคเส้นเลือดฝอยที่ไตอักเสบ โรคเนื้อเยื่อไตอักเสบ โรคไตวายเฉียบพลัน โรคไตวายเรื้อรัง โรคติดเชื้อของไตและท่อทางเดินปัสสาวะ โรคความผิดปกติของท่อไตและถุงน้ำ โรคนิ่ว และโรคมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งแต่ละประเภทมีต้นเหตุก่อโรคมากมาย และมีอาการทางคลินิกแตกต่างกันหลากหลายครับ เช่น ในระยะแรกของผู้ที่มีไตวายเรื้อรัง อาจมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ คันตามตัว ต่อมาอาจพบอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ตุ่มรับรสของลิ้นทำงานเปลี่ยนไป น้ำหนักตัวลด ชาปลายมือปลายเท้า ขี้หนาว ปวดแสบปวดร้อนบริเวณเท้า ปวดศีรษะ เป็นต้น อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการเฉพาะของโรคไตอย่างเดียว แต่พบได้ในอีกหลายโรค

ดังนั้นเราสามารถสังเกตความผิดปกติของไตตนเองได้โดยสังเกต สัญญาณเตือนภัย 6 ประการ ดังนี้คือ

1. การเปลี่ยนแปลงของการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะออกน้อยลง เป็นต้น

2. มีอาการแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะขัด สะดุดหรือมีเศษนิ่วปนออกมา

3. ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะมีสีน้ำล้างเนื้อหรือปัสสาวะเป็นฟอง

4. การบวมของใบหน้า ลำตัว ขา และเท้า

5. อาการปวดบั้นเอวหรือบริเวณสีข้าง (ไม่ต่ำกว่าเอวหรือไม่อยู่กลางหลัง)

6. ตรวจพบความดันโลหิตสูง

หากพบสัญญาณเตือนภัยข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ขอแนะนำให้คุณรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานจนสายเกินแก้ คุณที่รู้สึกว่าตนเองสุขภาพดีมาก ไม่เคยเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล บางคนเคยเป็นนักกีฬา ความแข็งแรงเหล่านี้ไม่ได้รับประกันว่า คุณจะไม่มีโอกาสเป็นโรคไต แม้จะไม่มีสัญญาณเตือนภัย ก็อาจจะมีโรคไตซ่อนเร้นในตัวแล้วก็เป็นได้ ทางที่ดีควรพิจารณา เคล็ดลับ 10 ประการป้องกันการเกิดโรคไต โดย เฉพาะคุณมีโรคประจำตัวบางอย่างที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเก๊าต์ (gout) โรคปวดเส้นหรือปวดกล้ามเนื้อที่ต้องรับประทานยาแก้ปวดเป็นประจำ เป็นต้น ยิ่งต้อง ปฏิบัติตามเคล็ดลับ 10 ประการ อย่างเคร่งครัดนี้เลยครับ

1. หมั่นสนใจสุขภาพของตนเอง และไปรับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ซึ่ง การตรวจสุขภาพนั้นมักรวมเอาการตรวจสุขภาพไตขั้นพื้นฐาน 3 ประการไว้ด้วย ได้แก่ การวัดความดันโลหิต การตรวจปัสสาวะ และการตรวจเลือดหาระดับของเสียในร่างกาย (ครีอะตินีน) ซึ่งทั้งสามอย่างนี้บอกได้ขั้นต้นว่าคุณมีโรคไตซ่อนอยู่หรือไม่

2. เลือกอาหารที่มีคุณค่า สุกสะอาด และมีประโยชน์ หลีก เหลี่ยงการกินอาหารไขมันสูง ไม่กินโปรตีนมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ไตเสื่อม และไม่กินอาหารน้อยไป จนเกิดภาวะขาดสารอาหาร หลีกเหลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง และอาหารรสจัด การกินเค็มมากไปจะทำให้เกิดอาการบวม หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง และไตต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อกำจัดเกลือส่วนเกินออก กินผักและผลไม้ให้มากยกเว้นหมอสั่งห้าม ลดปริมาณอาหารมื้อเย็น โดยเฉพาะมื้อดึก ให้ความสำคัญกับอาหารมื้อแรกของวัน ในกรณีที่มีภาวะไตวายเรื้อรัง ควรถามหมอว่าคุณเป็นโรคไตเรื้อรังระดับใด กินอะไรได้บ้าง มากน้อยเพียงใด

3. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร หรือ 6-8 ถ้วยต่อวัน การดื่มน้อยไปจะทำให้ไตเสื่อม มากไปจะทำให้หัวใจวาย ควรเลือกเดินทางสายกลาง

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเลือกออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถกระทำได้ทั้งในคนปกติและผู้ที่เป็นโรคไต ได้แก่ การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค หรือการออกกำลังกายอื่นๆ ที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง หากเลือกยกน้ำหนักไม่ควรยกน้ำหนักที่มากเกินไป นอกจากการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรงแล้ว การออกกำลังกายจะสามารถลดระดับความดันโลหิตลงได้ ลดไขมันส่วนเกิน ทำให้นอนหลับง่ายขึ้นและช่วยควบคุมน้ำหนักตัว

5. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน การนอนพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบทางอ้อมต่อไตทำให้ไตเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น

6.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ที่อ้วนเกินไปจะทำให้ไตทำงานหนัก ทำให้ไตเสื่อมหน้าที่เร็วขึ้น เพราะภาวะอ้วนจะทำให้โปรตีนรั่วในปัสสาวะเพิ่มขึ้น จากการกดทับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต ทำให้ความดันภายในไตสูงขึ้น โปรตีนที่รั่วนี้จะเป็นตัวทำลายไต การเปลี่ยนแปลงนี้จะดีขึ้นถ้าน้ำหนักตัวลดลง จึงควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน

7. หลีกเหลี่ยงสารเสพติด รวมถึงบุหรี่และแอลกอฮอล์ นอกจากสารเสพติดจะทำลายสุขภาพโดยรวมแล้ว ยังทำลายไตโดยตรง การดื่มแอลกอฮอล์จะมีผลเสียต่อทั้ง ตับและไต โดยเฉพาะคนที่ป่วยโรคไตควรเลิกดื่มจะดีที่สุด นอกจากการสูบบุหรี่จะทำให้ร่างกายได้รับสารพิษมากกว่า 50 ชนิดแล้ว ยังพบว่าไตของผู้ที่สูบจะเสื่อมหน้าที่เร็วขึ้น 1.2 เท่า ผลกระทบดังกล่าวยังเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ไปอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่

8. หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ บ่อยครั้งที่คนเราต้องกลั้นปัสสาวะนานๆ เช่น การที่ต้องค้างเติ่งบนรถที่ติดกันเป็นแพ หรือเดินทางในรถโดยสารทางไกล แน่นอนครับถ้าจำเป็นจริงๆ คงจะหลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ แต่พบว่าในบางคนที่ชอบกลั้นปัสสาวะ ทั้งๆ ที่สามารถไปห้องน้ำได้ ที่พบบ่อยในปัจจุบัน ได้แก่ เด็กวัยรุ่นที่เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ พบว่าการกลั้นปัสสาวะนานๆ เป็นต้นเหตุให้เชื้อโรคแทรกซึมเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ และเกิดการอักเสบของท่อทางเดินปัสสาวะ ในบางรายทำให้เกิดโรคไตอักเสบเฉียบพลันได้

9. หลีกเลี่ยงกลุ่มยาที่อาจมีผลต่อไต เช่น ยาแก้ปวดข้อ ปวดเส้น ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งมักจะเป็นยาในกลุ่ม “ยาเอ็นเสด (NSAIDs)” ซึ่งเป็นยาลดการอักเสบที่มีฤทธิ์แรงมาก แม้แต่ยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อ ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีหรือมีการแพ้ยา ก็อาจเกิดอันตรายต่อไตได้ เช่น ซัลฟาอาจตกตะกอนในไตทำให้ปัสสาวะไม่ออกได้ ผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง จะต้องลดขนาดยาแก้อักเสบลง ดังนั้นควรปรึกษาหมอก่อนทุกครั้งที่กินยากลุ่มนี้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคไต แม้แต่ยาแก้ปวดชนิดที่เป็นแอสไพริน และพาราเซตามอล หากใช้ติดต่อกันเกิน 10 วันอาจทำให้ไตเสื่อมได้ ถ้าจำเป็นต้องกินยากลุ่มนี้นานควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีการทำงานของไตและตับบกพร่อง ขอแนะนำว่าอย่ากินยาใดๆ โดยไม่ปรึกษาหมอก่อน และไม่ควรลองยาแปลกๆ ที่มีผู้อื่นแนะนำ รวมทั้งสมุนไพรต่างๆ ถ้ากินยาแล้วมีอาการเปลี่ยนแปลง ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที อย่ารอให้ยาหรือสารพิษทำลายไตของคุณหมดแล้วจึงค่อยมาพบ ถึงตอนนี้การรักษาใดๆ ก็ไม่สามารถทำให้ไตของคุณฟื้นได้ แต่ต้องรับการฟอกไตทดแทนไปตลอดชีวิต

10. อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา ในท้องตลาดมีการขายสารอาหารต่างๆ มากมายเพื่อบำรุงสุขภาพ อาหารเสริมเหล่านี้ทางองค์การอาหารและยา (อย.) ได้จัดเป็นอาหารไม่ใช่ยา ดังนั้นสามารถหาซื้อได้ทั่วไป และไม่จำเป็นต้องมาพบหมอก่อนซื้อ ในส่วนอาหารเสริมเหล่านี้ อย. ได้รับรองแล้วว่าคุณสามารถซื้อกินได้โดยไม่เกิดโทษ แต่ทางที่ดีก่อนจะซื้อ ควรอ่านฉลากอาหารที่แนบไว้ด้วยว่า อาหารเสริมมีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังประการใดบ้าง อาหารเสริมบางอย่างมีเกลือผสมอยู่มาก ทำให้เกิดโทษได้ในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังและโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้พบว่าปัจจุบันมีอาหารหรือสารบางอย่างที่โฆษณาขายว่า “สามารถรักษาโรคไตอ่อนแอได้” คำโฆษณาเกินจริงเหล่านี้ ฟังดูน่าสนใจ เชื่อว่าผู้ที่มีโรคภัยไข้เจ็บอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนที่มีโรคที่หมอบอกว่ารักษา ไม่มีทางหาย คงต้องอยากหายแน่นอน จึงอยากพบกับยาวิเศษ แต่คุณทราบไหมครับว่า สารหรืออาหารวิเศษที่ประกาศขายตามหนังสือรายสัปดาห์และหนังสือพิมพ์นั้น ไม่มีใครรับรองสรรพคุณ ถ้าเป็นยาดีจริง ทำไมไม่มีขายในโรงพยาบาล และถ้ายาเหล่านี้ดีจริง ทำไมต้องขายทางไปรษณีย์ที่คุณไม่มีทางรู้จักผู้ขายเลย คุณต้องส่งเงินหรือโอนเงินไปให้ ผลจากการหลงเชื่อเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคไตวายเรื้อรังมาแล้วนับไม่ถ้วน ครับ
โดยสรุปที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเคล็ดลับ สำหรับคนที่ไม่อยากเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย หรืออย่างน้อยถ้าทำได้ก็จะช่วยยืดอายุไตของคุณออกไปอีกยาวนาน การดูแลตนเองเป็นหลักสำคัญสำหรับทุกคนครับ ที่ยังไม่เป็นหรือเป็นโรคไตระยะแรกๆ ซึ่งหมอยังมีบทบาทไม่มากนักในการสั่งจ่ายยา แต่ในระยะแรกๆ นี้ คนทั่วไปมักจะละเลยคิดว่าตนเองยังสบายดีอยู่ แต่เมื่อใดที่โรคไตเป็นมากขึ้น ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาพบกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในกรณีหลังนี้ หมออยากบอกท่านว่า “ช้าไปแล้ว” อย่างไรก็ตามในทุกระยะของโรคไตเรื้อรัง พบว่าการปฏิบัติตามเคล็ดลับ 10 ประการได้ผลดีทั้งสิ้น ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม ก็จะช่วยยืดอายุการทำงานไตของคุณให้ยาวนานขึ้น

ผศ.นพ. เถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต

http://www.gotoknow.org/posts/510122