วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วิกฤตไข้เลือดออกความจริงที่สธ.ไม่เคยบอก?

ไม่มีคำอธิบายใดจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ถึงสาเหตุของวิกฤตไข้เลือดออกที่กำลังลามทุ่งทั่วประเทศ ...จนถึงวินาทีนี้สถิติส่อเค้าทุบประวัติศาสตร์ในรอบทศวรรษ

หากเป็นไปตามที่ สธ.คาดการณ์ ปี 2556 จะมีผู้ติดเชื้อร่วม 1.2 แสนคน มากที่สุดในรอบ 12 ปี
คำถามคือ ... เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?ย้อนไปช่วงปลายปี 2555 สัญญาณการระบาดถูกส่งผ่านความแปรปรวนทางภูมิอากาศช่วง 3 เดือนสุดท้าย
ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ประเทศไทยกลับได้สัมผัสกับอากาศอบอุ่นในบางจังหวะสลับด้วยฝนตกชุก ขณะนั้นตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มมากถึง 2.8 หมื่นคนกระทั่งสะสมถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยแล้วกว่า 8.2 หมื่นคนในจำนวนนี้เสียชีวิต 78 คน (สูงกว่าปี 2555 ถึง 3 เท่า)
สอดรับกับการระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พบว่าผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกสูงขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน โดยเฉพาะสิงคโปร์และฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าลาว กัมพูชา แม้ว่าจะรายงานสถิติผู้ป่วยเพียงหลักพันเท่านั้น แต่เป็นที่เข้าใจกันดีในระดับสากลว่าระบบการค้นหารวมถึงมาตรฐานการสืบสวนสอบสวนโรคของประเทศเหล่านั้นยังไม่ดีพอ
สมมติฐานหนึ่งซึ่งมีความน่าจะเป็นสูง เนื่องด้วยมีงานวิจัยหลายเล่มจากนานาประเทศรองรับคือ ความรุนแรงของการระบาดแปรผันตรงกับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น กล่าวคือ "ยิ่งโลกร้อน ไข้เลือดออกยิ่งระบาดหนัก"
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ  ประธานชมรมพัฒนาระบาดวิทยาแห่งประเทศไทย อ้างงานวิจัยสำทับความเชื่อข้างต้น เขาอธิบายว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ยุงลายมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น โดยปกติแล้วยุงลายมีชีวิตอยู่ประมาณ 30 วัน แต่เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น0.5 องศาเซลเซียส ยุงลายจะมีวงจรอยู่ได้ถึง 45-60 วัน
นักระบาดวิทยารายนี้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ตามธรรมชาติยุงลายจะออกหากินหรือกัดในช่วงเวลากลางวัน แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเป็นเหตุให้ในช่วงกลางคืนยังมีอุณหภูมิเหมาะสม ยุงลายจึงสามารถออกหากินได้
นอกจากนี้ ยังพบผลการวิจัยเรื่อง"รูปแบบการรอดชีวิตและการติดต่อของโรคไข้เลือดออก" จากประเทศฝรั่งเศส ที่ช่วยยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูลข้างต้น โดยระบุว่า ยุงลายสามารถมีชีวิตได้ถึง 76 วัน ในสิ่งแวดล้อมที่มันชื่นชอบในที่นี้หมายถึงอากาศร้อนชื้น(นั่นก็คือประเทศไทย)งานวิจัยอีกเล่ม เรื่อง"ปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคไข้เลือดออกระบาด : ศึกษาจากสัดส่วนประชากรดักแด้ยุงลายและปัจจัยภายนอก" จากสหรัฐอเมริกา ให้ความจริงที่น่าตกใจอีกว่า อุณหภูมิตั้งแต่ 32 องศาเซลเซียสขึ้นไป เร้าให้ยุงลายเพิ่มจำนวนการกัดขึ้นเป็น 2 เท่า(ยุงลายต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในอากาศร้อนด้วยการกัด)
หนำซ้ำงานวิจัยเล่มนี้ยังบอกอีกว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้กระตุ้นให้ยุงลายโตเร็วขึ้นอีกถึง 4 เท่า กล่าวคือช่วงอุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส ยุงลายจะโตเต็มวัยใน4 วัน แต่ในอุณหภูมิ 32-34 องศาเซลเซียส จะโตเต็มวัยภายใน 1 วัน
ธรรมชาติของโรคไข้เลือดออกจะมียุงลาย "เพศเมีย"เป็นพาหะ ผลการวิจัยเรื่อง"ผลกระทบของอุณหภูมิและอาหารของตัวอ่อนต่อการพัฒนาการเจริญเติบโตและการอยู่รอดของลูกน้ำ" ของออสเตรเลีย พบว่า ที่อุณหภูมิมากกว่า 30 องศาเซลเซียส ยุงลายจะเกิดเป็นเพศเมียมากกว่าเพศผู้ในสัดส่วน 4:3 นั่นหมายความว่า นอกจากจะมียุงพาหะมากขึ้น ยังมียุงที่จะวางไข่เพื่อให้เกิดประชากรยุงมากขึ้นอีกด้วย
สำหรับการฟักตัวของโรคในคน โดยปกติแล้วหลังจากถูกยุงกัดประมาณ 10-12 วัน ร่างกายจึงจะแสดงอาการ แต่มีผลการวิจัยเรื่อง"ผลกระทบของอุณหภูมิต่อประสิทธิภาพการกระจายเชื้อไข้เลือดออก" ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในช่วงอุณหภูมิ 32-35 องศาเซลเซียส จะย่นย่อระยะเวลาเหลือเพียง 7 วันเท่านั้น
ทั้งนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยตามที่เครือข่ายสถาบันวิจัยระดับภูมิภาค (START) วิเคราะห์ อยู่ที่31-33.5 องศาเซลเซียส
เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าสธ.มีผลการศึกษาเหล่านี้
คำถามคือ เหตุใดจึงไม่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงเพื่อสร้างความตระหนัก ซึ่งได้ผลดีกว่าการรณรงค์ "ให้กำจัดลูกน้ำ" ซ้ำซาก โดยไม่บอกที่มาที่ไป 
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 29 กรกฎาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น