วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อันตรายจากอาหารสำเร็จรูป




หากลองสำรวจฉลากอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือแม้แต่ในร้านอาหารเพื่อสุขภาพก็ตาม คุณจะพบว่าอาหารแทบทุกชนิดมีส่วนประกอบบางอย่างที่ไม่ใช่อาหารตามธรรมชาติ การได้รับสารแต่งอาหารเหล่านี้แค่ในระยะสั้นอาจปลอดภัย แต่มีบางคนที่แพ้สารปรุงแต่งอาหารบางชนิด และเมื่อเทียบกับอาหารจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะกับร่างกายของเราแล้ว อาหารสำเร็จรูปเหล่านี้ย่อมมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่า


แม้ว่าที่จริงแล้วไม่มีใครอยากกินสารปรุงแต่งอาหารสีผสมอาหาร หรือเครื่องปรุงรสสังเคราะห์เหล่านี้เลย แต่อาหารต่าง ๆ ที่เรากินในปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปเป็นส่วนประกอบมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอาหารจำพวกขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มรสหวานสำหรับเด็ก จากงานวิจัยล่าสุดพบว่า เมื่อปี พ.ศ. 2524 เราใช้เวลาโดยเฉลี่ย 1 ชั่วโมงสำหรับเตรียมอาหารแต่ละมื้อ แต่เมื่อถึงพ.ศ. 2542 เวลาเตรียมอาหารของคนยุคนี้เหลือเพียง 20 นาทีต่ออาหารหนึ่งมื้อ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ยอดอาหารสดค่อย ๆ ลดลง ขณะที่อาหารสำเร็จรูปมียอดจำหน่ายสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้บริโภคนิยมความสะดวกสบายนั่นเอง
กระบวนการผลิต ฃกระบวนการที่สำคัญที่สุดของอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปคือ การปรุงแต่งรสชาติในห้องทดลองโดยนักเคมีอาหาร ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้อาหารเก็บไว้ได้นานที่สุด และมีรสชาติโดดเด่นที่สุด จากนั้นเป็นกระบวนการผลิตอันซับซ้อน และเนื่องจากต้องการให้ผู้บริโภคติดใจรสชาติ และซื้อเป็นประจำ อาหารสำเร็จรูป/แปรรูปจึงมักเติมสารให้ความหวาน เกลือ สารปรุงแต่งรสชาติ ไขมันสังเคราะห์ สารถนอมอาหาร สีผสมอาหาร และสารเคมีสารปรุงแต่งลักษณะอาหารปริมาณมาก แล้วจึงถึงขึ้นสุดท้ายคือ การใส่บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม เพื่อกระตุ้นให้คุณอยากซื้อสินค้า กระบวนการผลิตอันซับซ้อนนี้เกิดขึ้นในโรงงานที่ทันสมัย ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปเป็นธุรกิจที่มีกำไรมหาศาล


ข้อเสียของอาหารสำเร็จรูปไม่ใช่สาเคมีต่าง ๆ ที่เติมลงไปเท่านั้น ยังเกิดจากสิ่งที่ถูกสกัดออกไปด้วย เช่น ใยอาหารชนิดละลายน้ำ สารต้านอนุมูลอิสระ และไขมันชนิดดี ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย


ในอาหารสำเร็จรูปประกอบด้วยสารปรุงแต่ง เช่น น้ำตาล เกลือโซเดียม และไขมันชนิดทรานส์ ซึ่งเป็นสารอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเหลือของคุณ เมื่อปีพ.ศ. 2548 ในประเทศอังกฤษพบว่าสารปรุงแต่งอาหารที่ชื่อว่า “ซูดาน-1” (Sudan-1) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่น่ากลัวจากการกินอาหารสำเร็จรูปและสารเคมีที่เราไม่รู้จักดีพอ


เบื้องหลังโรงงานอาหาร
อาหารสำเร็จรูปบรรจุหีบห่อสวยงามน่ากินที่เห็นตามซูเปอร์มาเก็ตนั้น มีสภาพแตกต่างจากธรรมชาติดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง ภาพที่เห็นจนชินชาก็คือ อาหารกระป๋องแช่แข็ง บรรจุขวดหรือกล่อง เช่น ซีเรียล ไอศกรีม ซุป พิซซ่าแช่แข็ง ขนมหวานรสอร่อยชนิดต่าง ๆ


อย่างไรก็ตาม อาหารสำเร็จรูปไม่ได้มีแต่ข้อเสียเสมอไป นม โยเกิร์ต และเนยแข็งหลายชนิดที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต จำเป็นต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ (พาสเจอร์ไรส์) ก่อนบรรจุกระป๋องและส่งมาวางขาย นอกจากนี้ซอส สปาเก็ตตี้หลายชนิดธัญพืชอัดแท่ง แม้ผ่านกระบวนการผลิตแต่ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และยังมีสารเจือปนน้อยมาก


อาหารที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่คือ อาหารที่แปรสภาพจากธรรมชาติอย่างสิ้นเชิงเพื่อความสะดวก อร่อย และเก็บได้นานขึ้น อาหารเหล่านี้มักมีส่วนประกอบบนฉลากยาวเหยียด และเต็มไปด้วยสารเคมีที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน สารปรุงแต่งที่เรากินเป็นประจำ ได้แก่ สารถนอมอาหาร สารปรับสภาพอาหาร สารทำละลาย สารควบคุมความเป็นกรด และสารอื่น ๆ อีกมากมาย


ในประเทศไทยมีสารปรุงแต่งอาหารจำนวนมากที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีทั้งที่ผลิตในประเทศและสารที่นำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับลายละเอียดเกี่ยวกับสารปรุงแต่งเหล่านี้สามารถหาข้อมูลได้ที่เว็บของ อย. (www.fda.moph.go.th) หรือ กองควบคุมอาหาร (www.qmaker.com/fda/new/web_cms/)


ปลอดภัยจริงหรือ
บางครั้งสารปรุงแต่งอาหารทำให้เราเข้าใจผิดเกี่ยวกับธรรมชาติของอาหารชนิดนั้น เช่น โยเกิร์ตส่วนใหญ่ที่ระบุว่าเติมผลไม้นั้น มักจะมีผลไม้น้อยมากจนไม่สามารถให้กลิ่นและรสชาติของผลไม้ชนิดนั้น จึงต้องมีการเติมสีและรสชาติสังเคราะห์เพิ่มเติม สารปรุงแต่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้อาหารตามมา ปัจจุบันพบว่ามีผู้แพ้อาหารจำพวกข้าวสาลีและนมเพิ่มขึ้นเกือบ 100 เท่า


สารปรุงแต่งอาหารทุกชนิดต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยเสียก่อน จึงอนุญาตให้ใช้ได้ และแนะนำให้ใช้ได้ในปริมาณต่ำสุดเพื่อให้ได้อาหารในแบบที่ต้องการ (เช่น มีสีสันและรสชาติเหมือนผลไม้หรือดูน่ากิน) อาหารสำเร็จรูปทุกชนิดจำเป็นต้องใช้สารปรุงแต่งอาหารเพื่อป้องกันการบูดเน่าซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ


สารปรุงแต่งอาหารเป็นสารเคมีที่ช่วยถนอมคุณภาพอาหาร แต่อาจทำให้สุขภาพของเราเสี่ยงต่ออันตรายในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมฉลากอาหารเข้มงวด ผู้ผลิตต้องระบุสารปรุงแต่งอาหารทุกชนิดบนฉลาก เพื่อให้ผู้บริโภคทราบก่อนตัดสินใจซื้อ อย่างไรก็ตาม อาหารสำเร็จรูปบางชนิดใช้ส่วนที่เป็นอาหารสำเร็จรูป ซึ่งแน่นอนที่จะมีสารปรุงแต่งอาหารอยู่ด้วย แต่ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องระบุสารปรุงแต่งนี้ในฉลาก
นอกจากสารเคมีแล้ว อาหารสำเร็จรูปบางชนิดมักลวงเราด้วยชื่อวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหาร เช่น ระบุว่าผลิตจากข้าวกล้อง แต่เป็นการนำข้าวกล้องไปขัดสีเป็นแป้งข้าวก่อนผลิตเป็นอาหาร ซึ่งคงไม่เหลือคุณค่าทางโภชนาการมากนัก


บางครั้งกระบวนการผลิตแบบง่าย ๆ ก็อาจลดทอนคุณค่าของอาหาร เช่น ส้ม 1 ผลย่อมมีใยอาหารมากกว่าน้ำส้มคั้นสด การคั้นจึงเป็นวิธีลดทอนคุณค่าทาง
โภชนาการของอาหารธรรมชาติ


ในปัจจุบันการกินอาหารทางธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมีคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงหรือลดการบริโภคอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพลง ตัวอย่างต่อไปนี้คืออาหารยอดแย่ที่คุณควรหลีกเลี่ยง


ไขมันชนิดทรานส์ อันตรายจากฝีมือมนุษย์
ไขมันชนิดทรานส์ (trans fat) เป็นไขมันอันตรายที่มักพบในอาหารสำเร็จรูปในพวกเค้กและขนมอบ รวมทั้งขนมที่ใช้เนยเทียม (มาร์การีนแข็ง) หรือเนยขาว (shortening) เป็นส่วนประกอบ เนื่องจากไขมันชนิดทรานส์คือน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนจึงทำให้หลายคนคิดว่า การกินไขมันชนิดทรานส์จะดีต่อสุขภาพหัวใจมากกว่าการกินเนย (better) ซึ่งเป็นไขมันชนิดอิ่มตัว


อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ปีมานี้มีการประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า ไขมันชนิดทรานส์มีอันตรายต่อหัวใจมากกว่าไขมันชนิดอิ่มตัว งานวิจัยจากเนเธอร์แลนด์พบว่าการกินอาหารที่ไม่มีไขมันทรานส์ช่วยลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจลงได้ถึงร้อยละ 20


ปัญหาสำคัญคือ ในปัจจุบันมีอาหารหลากหลายชนิดที่มีประกอบด้วยไขมันชนิดทรานส์ ไม่ว่าจะเป็นขนมอบกรอบ มันฝรั่งทอด ขนมชนิดบรรจุซอง มาร์การีน โดนัท มัฟฟิน ไก่ทอด ปลาทอด ฯลฯ หากคุณต้องการหลีกเลี่ยงไขมันชนิดทรานส์ ก็ควรทราบข้อมูลต่อไปนี้
ข้อมูลน่ารู้


มันชนิดทรานส์คืออะไร ไขมันชนิดทรานส์เกิดจากการนำน้ำมันจากพืชมาผ่านกระบวนการให้ความร้อนและเติมไฮโดรเจน เรียกว่ากระบวนการ ‘hydrogenation’ เพื่อเปลี่ยนน้ำมันพืชให้มีความข้นและแข็งตัวให้เหมือนไขมันจากสัตว์ เช่น นำน้ำมันพืชมาผลิดเป็นเนยเทียมหรือเนยขาว นอกจากนี้ ยังทำอาหารให้มีรสชาติเข้มข้นและเก็บได้นานขึ้นอีกด้วย แต่ผลเสียที่ตามคือ ไขมันทรานส์มีอันตรายกว่าไขมันอิ่มตัวเสียอีก


ไขมันทรานส์เป็นอันตรายต่อหัวใจอย่างไร ไขมันทรานส์ทำให้ไขมันร้ายหรือแอลดีแอลเพิ่มขึ้น และทำให้ไขมันดีหรือเอชดีแอลลดลง นักวิจัยบางคนยังสงสัยว่า ไขมันชนิดทรานส์อาจทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายและทำให้เซลล์เกิดภาวะดื้นอินซูลินด้วย


- See more at: http://www.readersdigestthailand.co.th/danger-of-instant-food?lid=homeFeed#sthash.l0Zhf1ne.dpuf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น