วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความเครียดและสุขภาพ






เนื่องจากความเครียดทำให้เกิดการตอบสนองของร่างกายได้เกือบทุกส่วน ทั้งอาการทางร่างกาย และอาการทางจิตใจ แต่ไม่จำเพาะ ตัวอย่างเช่น ปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ หัวใจสั่น หายใจขัด หายใจถี่ เหงื่ออกง่าย ตกใจง่าย หงุดหงิด เป็นโรคกระเพาะ ความดันสูง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เกิดอาการลมพิษ นอนไม่หลับ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าถ้าเกิดความเครียดมากเกินไปร่างกายจะไม่สบาย เกิดโรคได้นานัปการ แต่ถ้าไม่เกิดความเครียดเลยมนุษย์ผู้นั้นย่ออมเฉื่อยชา ไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้นเกิดความเซ็ง ร่างกายจะไม่สบาย เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ซึมเศร้า ไม่อยากกินอาหาร และเกิดอาการต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกัน เมื่ออยู่ในภาวะเครียด กล่าวคือ ถ้าไม่มีความเครียด มนุษย์ย่อมไม่สบายและเกิดโรคได้เช่นกัน
กล่าวกันว่าการเกิดความเครียดต้องมีสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเรา ดังนั้นถ้าเราสามารถลดความรุนแรงของสิ่งเร้าไม่ให้มากเกินไป ร่างกายและจิตใจย่อมมีความสุขไม่เป็นโรค

วิธีการจัดการความเครียดจึงไม่ใช่มุ่งแก้อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กินยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยาผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้ต้องพึ่งยาอยู่ตลอดเวลา และมักจะต้องกินยาในขนาดหรือปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าหยุดยาจะทำให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น หรือไม่ควรหันมาคลายเครียดด้วยการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลังเพื่อให้กระปรี้กระเปร่าชั่วขณะหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็คล้ายกับยาสามารถทำให้ติดเครื่องดื่มเหล่านี้และต้องการขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บางคนลดความเครียด โดยการกินของหวาน ขนม หรืออาหารในปริมาณมากจนเกิดภาวะโรคอ้วน ยิ่งทำให้เครียดหนักขึ้นไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเลย

ความจริง เมื่อเราเข้าใจว่าความเครียดเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก การลดความเครียดหรือผ่อนคลายความเครียดย่อมพึ่งตนเองได้โดยปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ต้องอาศัยยาหรือสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ

สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความเครียดนั้นทำได้ คือ หลบหนีสิ่งเร้าเหล่านี้ โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงสภาพของมลภาวะต่าง ๆ ได้แก่ เสียงต่าง ๆ เสียงอึกทึก เช่น เสียงโทรศัพท์ เสียงวิทยุ เสียงจากโทรทัศน์ หลีกเลี่ยงภาพหรือสิ่งของที่ยั่วยวนสายตาที่ทำให้เกิดกิเลสอยากจะเป็นเจ้าของ เช่น เสื้อผ้าอาภรณ์ยี่ห้อจากฝรั่งเศส ราคาแพง รถยนต์ราคาเป็นล้าน เครื่องประดับเพชรนิลจินดา ทางด้านกลิ่นต่าง ๆ ย่อมมีส่วนทีให้เกิดอารมณ์เครียดเช่นกัน ซึ่งรวมทั้งกลิ่นหอม กลิ่นฉุน (หรือกลิ่นเหม็น) กลิ่นหอมที่คนหนึ่งชอบ อาจเป็นกลิ่นเหม็นที่อีกคนรังเกียจ จนทนไม่ได้และเกิดอารมณ์เสียขึ้นทันทีอย่างไม่มีเหตุผล อาหารบางรสทำให้ผู้กินเกิดความเครียดได้ เช่น อาหารยุโรปที่ปรุงด้วยนมเนย กระเทียม อาจทำให้บางคนเครียดและเกิดอาการเจียนและควรลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วย ดังนั้น ถ้าเรารู้จักหลีกเลี่ยงสิ่งที่เราไม่ชอบ ภาวะที่มีมลพิษ เราย่อมไม่เกิดความเครียดมากเกินไป ในทางตรงกันข้ามถ้าเราฝืนใจอยู่ในสภาพแวดล้อมเหล่านั้น ความเครียดอาจเกิดขึ้นมากจนเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้ร้ายแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีผู้แนะนำวิธีลดความเครียดอีกหลายวิธี

1. ฝึกสมาธิ นั่งวิปัสสนาฝึกลมปราณ ฝึกโยคะ อาจทำให้จิตใจสงบลง การใช้ออกซิเจนน้อยลงร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น ไม่กระวนกระวาน

2. ฝึกการผ่อนคลาย เช่น นอนราบบนพื้น ฟังเพลงประเภทเบา ๆ เกร็งกล้ามเนื้อของใบหน้า เกร็งกล้ามเนื้อมือและเท้าให้แน่น ๆ แล้วปล่อยทันที

3. ใช้วิธีการป้อนกลับทางชีวภาพ เช่น อาศัยการบันทึกคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อข้างที่เกร็งเปรียบ-เทียบกับข้างที่ปกติ โดยให้เห็นภาวะคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อบนจอภาพหรือ ได้ยินเสียงของกล้ามเนื้อจากลำโพง หรือฝึกให้ลดเสียงเหล่านี้โดยการพยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

4. เป็นที่ยอมรับว่าการนวดทำให้กล้ามเนื้อและร่างกายคลายเครียดได้ โดยเฉพาะการนวดหน้าจะทำให้นอนหลับได้

5. การปรับอิริยาบถ ให้อยู่ในท่าที่กล้ามเนื้อไม่เกร็งอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ในท่านั่ง ท่านอน หรือท่าทำงาน

6. การว่ายน้ำหรือลอยตัวอยู่ในน้ำ

7. การออกกำลังกายแบบซ้ำ ๆ เช่น รำมวยจีน ไทเก๊ก หว้ายตันกง เล่นยิมนาสติก เต้ารำจังหวะช้า รำไทย บัลเลย์ เป็นต้น

เมื่อเราไม่เครียด จิตใจจะสบาย สมองจะโปร่งใส ร่างกายแข็งแรงจะทำให้อะไรย่อมประสบความ-สำเร็จ ได้ตามที่คาดหวังไว้

อะไรเอ่ย ดีใจก็ไม่เกิด เสียใจก็ไม่เกิด ไม่เกิดทั้งเวลาประสบความหวัง และผิดหวัง

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น